รพ.จุฬาฯ โชว์เคสแรกในอาเซียน ผ่าตัด’เปลี่ยนไตข้ามหมู่เลือด’

เมื่อวันที่ 5 เมษายน โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “มอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยโรคไต” หลังประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ด้วยเทคนิคล้างน้ำเหลืองไม่ทำลายภูมิคุ้มกันทั้งหมดเป็นรายแรกในอาเซียน

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรวินธุ ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ แถลงว่า ล่าสุด ทีมแพทย์ของศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ รพ.จุฬาฯ ได้ใช้เทคนิคใหม่ในการล้างน้ำเหลืองก่อนปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ในวิธีการที่สามารถล้างเฉพาะภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่อต้านหมู่เลือดออกเท่านั้น ซึ่งข้อดีคือ ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวนานหากมีญาติพี่น้องที่สามารถบริจาคไตให้กันได้ ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

ด้าน ศ.นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ รองหัวหน้าหน่วยโรคไต ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาฯ แถลงว่า ที่ผ่านมาการปลูกถ่ายไตแบบข้ามหมู่เลือดใช้การกำจัดแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันชนิดที่เป็นตัวป้องกันความแตกต่างของหมู่เลือดออกไปทั้งหมด แต่จากแอนติบอดี้ดังกล่าว พบว่ามีเพียงร้อยละ 1 ของภูมิคุ้มกันของร่างกายเท่านั้น แต่ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญจาก รพ.มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้ถ่ายทอดเทคนิคการรักษาให้กับ รพ.จุฬาฯ สามารถล้างเอาภูมิคุ้มกันร่างกายชนิดที่ต่อต้านการข้ามหมู่เลือดที่มีร้อยละ 1 ออกมาได้โดยไม่ทำลายภูมิคุ้มกันทั้งหมด

“วิธีการคือ ดึงเอาน้ำเหลืองในเลือดออกมาผ่านเข้ากับเครื่องดูดซับน้ำเหลือง จะได้น้ำเหลืองที่ปราศจากแอนติบอดี้ของร่างกายที่ต่อต้านการข้ามหมู่เลือด ซึ่งโครงการนี้ได้ใช้กับผู้ป่วยคือ นายพรชัย โชติวิวัฒนภิญโญ อายุ 52 ปี หมู่เลือด บี และผู้ให้คือ น.ส.อารีทัย แซ่จู อายุ 46 ปี หมู่เลือด เอบี ซึ่งเป็นน้องสาว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 14-19 มีนาคม และประสบความสำเร็จด้วยดี” ศ.นพ.ยิ่งยศกล่าว และว่า สำหรับคนไข้ที่จะเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายไตโดยวิธีนี้ ต้องได้รับยากดภูมิในระหว่างฟอกเลือด และแพทย์ต้องประเมินว่าร่างกายคนไข้พร้อมและทนความเจ็บปวดภายหลังจากการผ่าตัดได้ ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวสามารถทำได้ทันทีเมื่อมีผู้บริจาคไตให้ แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันยังมีผู้บริจาคน้อย และตามกฎหมายไทยกำหนดให้ผู้บริจาคระหว่างกันคือ พี่น้องโดยสายเลือด พ่อแม่-ลูก และสามีภรรยาเท่านั้น ส่วนการตรวจสอบว่าผู้ที่จะบริจาคมีการซื้อขายไตหรือไม่ แพทย์สามารถตรวจสอบได้จากเนื้อเยื่อ

Advertisement

ศ.นพ.ยิ่งยศแถลงอีกว่า วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 500,000 บาท แต่ผู้ป่วยโรคไตสามารถใช้สิทธิเบิกจาก 3 กองทุนสุขภาพของรัฐได้เท่าที่หลักเกณฑ์การผ่าตัดเปลี่ยนไตปกติกำหนดไว้ โดยต้องจ่ายส่วนต่างในการใช้เทคนิคเอาแอนติบอดี้ต่อต้านการข้ามหมู่เลือดออกเพิ่มเติม ทั้งนี้ ปัจจุบันในไทยมีผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 50,000 ราย และมีผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตกว่า 5,000 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image