ภาคปชช.ประกาศมอบ1.5หมื่นชื่อหนุนสนช.ออกกม.ยาสูบปกป้องเด็กเยาวชน

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่โรงแรมเอเชีย ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกับภาคีควบคุมยาสูบ 791 องค์กร แถลงข่าว “ประกาศมอบรายชื่อประชาชนสนับสนุน พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่” ว่า จากการรวบรวมรายชื่อของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งผู้สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่รวมทั้งหมด  15,036,153 รายชื่อ ซึ่งเป็นยอดที่ลงหน้าเว็บไซต์ www.vote4tobaccolaw.com โดยรายชื่อดังกล่าวจะส่งมอบให้แก่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อสนับสนุนให้ออก (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากพิษภัยของการสูบบุหรี่  เนื่องจากกฎหมายนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่ใช้มากว่า 20 ปี ที่ล้าสมัยให้ทันสมัยและเข้มแข็ง ในการควบคุมการตลาดและการจำหน่ายสินค้ายาสูบ รวมทั้งเพื่อให้กฎหมายใหม่เป็นไปตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ ที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก ตามนโยบายของรัฐบาล

“กฎหมายฉบับนี้อาจทำให้ธุรกิจบุหรี่ได้ผลกำไรน้อยลง บริษัทบุหรี่จึงพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงการออกกฎหมาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่ธุรกิจได้จัดตั้งขึ้นตลอดขวบปีที่ผ่านมา ทางเครือข่ายจึงขอความกรุณาจาก สนช.ในการออกกฎหมายโดยปลอดจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อรักษาเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ไว้อย่างครบถ้วนตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งบทบัญญัติต่างๆ ล้วนมาจากอนุสัญญาควบคุมยาสูบ เพื่อให้เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน” ศ.พญ.สมศรีกล่าว

นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ หัวหน้าสำนักการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน เครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพฯซึ่งประกอบด้วยตัวแทนเยาวชนจากสถานศึกษา นักเรียนระดับมัธยม และเยาวชนจากชมรมต่างๆ รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่ส่งผลในการปกป้องสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทยมาตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันมีเยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี ติดบุหรี่แล้ว 1.6 ล้านคน ที่น่ากลัวคือร้อยละ 70 ของคนไทยที่ติดบุหรี่จะเลิกสูบไม่ได้ไปตลอดชีวิต แม้ว่าร้อยละ 30 ที่เลิกสูบได้ แต่โดยเฉลี่ยจะตกเป็นทาสของบุหรี่คนละ 20 ปี หมายความว่า จำนวนเยาวชนไทยที่ติดบุหรี่ขณะนี้ กว่า 1.1 ล้านคนจะเลิกบุหรี่ไม่ได้ไปจนตลอดชีวิต และกว่าครึ่งหนึ่งของเยาวชนที่ติดบุหรี่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคร้ายจากการสูบบุหรี่ และในแต่ละปีมีเยาวชนติดบุหรี่เพิ่มขึ้น 200,000 คน จึงน่าเป็นห่วงว่าหากประชาชนในวัยที่มีความเปราะบาง ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองที่ดีพอ อนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่อย่างเร่งด่วน เพื่อจำกัดการเข้าถึงบุหรี่ของเด็กและเยาวชน รวมถึงหยุดยั้งการตลาดที่มุ่งเข้าหาเด็กและเยาวชน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image