กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย จับมือนิด้า ระดมภาครัฐสร้างกลไกรู้เท่าทันสื่อ ลดความซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเวทีประชุมภาคีเครือข่ายภาครัฐในการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนดทิศทางในการพัฒนาสื่อใน 3 ประเด็น ได้แก่ การบูรณาการกลไกเฝ้าระวังสื่อ การปฏิรูปกระบวนการและรูปแบบการรู้เท่าทันสื่อในสังคมไทย และแนวทางการปกป้องคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์

นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวปาฐกถาเปิดงานหัวข้อ “ภาครัฐเพื่อการปฏิรูปสื่อ” ว่า การปฏิรูปสื่อมี 2 ด้านใหญ่ๆ 1.สื่อที่เรียกร้องด้านอิสรเสรีภาพมาโดยตลอด สื่อต้องอยู่บนฐานของการเคารพผู้อื่น บนพื้นฐานจริยธรรมและบนพื้นฐานประชาธิปไตย 2.สื่อต้องเป็นโรงเรียนที่จะบอกกล่าวกับสังคมว่าอะไรถูกต้อง ต้องสนับสนุนด้านศิลปวัฒนธรรม ต้องปลูกฝังทัศนคติที่ดี โดยเป้าหมายของการจัดให้มีการประชุมภาคีเครือข่ายในครั้งนี้คือ ต้องการให้ภาครัฐขับเคลื่อนตัวเองก่อน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเองยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร

จิรชัย มูลทองโร่ย

 

นายจิรชัยบอกอีกว่า การปฏิรูปเพื่อให้รู้เท่าทันสื่อในสังคมไทยต้องมีการบูรณาการ 3 ส่วน คือ “หน่วยงานภาครัฐ” ต้องขับเคลื่อนก่อน มิฉะนั้นประชาชนจะเสียโอกาส “เอกชน” ต้องเหลียวมองว่าท่านได้รับการดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างไร โดยเฉพาะสื่อต้องดูว่าการวางกรอบเช่นนี้ต้องสนับสนุนอย่างไร และ “ประชาชน” จะต้องมีส่วนในการปฏิรูปตนเองด้วย

Advertisement

“ในการปฏิรูปสื่อ ผมไม่โทษสื่ออย่างเดียว เพราะปัจจุบันประชาชนก็เป็นสื่อด้วย ฉะนั้นทุกคนต้องปฏิรูปตนเองด้วย ทั้งสามส่วนจึงจะต้องบูรณาการและขับเคลื่อนไปพร้อมกันให้ได้”

วสันต์ ภัยหลีกลี้

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เพราะเทคโนโลยีมีทั้งด้านบวกและด้านลบ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสื่อโดยเฉพาะสื่อใหม่ๆ และการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปทำให้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ในส่วนของภาครัฐก็จำเป็นต้องปรับตัวก่อน เพราะถ้ารัฐไม่เปลี่ยน รัฐอาจต้องเปลี่ยนแปลงเอง

“การรู้เท่าทันในวันนี้ไม่ใช่แค่สื่อ แต่ต้องรวมถึงดิจิทัล อินฟอร์เมชั่นด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกันกับสื่อ เราอยากเห็นกลไกที่มีพลัง ตัวอย่างเช่นรายการชัวร์ก่อนแชร์ ต้องการให้มีความเชื่อมโยงเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันข่าวเท็จข่าวลวง ดังที่เห็นว่าปัจจุบันมีข่าวเท็จมากมายและเวียนกลับมาอยู่บ่อยครั้ง ที่สำคัญคือ คนที่บริโภคสื่อเองทำอย่างไรที่จะให้มีความคิดวิเคราะห์ รู้ว่าอะไรเชื่อได้ อะไรเชื่อไม่ได้ นั่นคือต้องมีกลไกเข้ามาจัดการโดยเกิดขึ้นในแต่ละหน่วยงานแล้วมาเชื่อมโยงกัน”

Advertisement

ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก วิทยากรประจำกลุ่มการปฏิรูปกระบวนการและรูปแบบการรู้เท่าทันสื่อในสังคมไทย กล่าวว่า กระบวนการรู้เท่าทันสื่อเราเน้นหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีการทำงานอยู่กันแล้ว แต่อยู่ที่จะเชื่อมร้อยกันอย่างไรในเรื่องนี้เพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อนและขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันมันก็จะเกิดพลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้การประชุมภาคีเครือข่ายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะเป็นครั้งแรกในส่วนของภาครัฐ แต่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมระดมสมองเป็นจำนวนมาก โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุมจะมีการสังเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอส่งไปยังภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image