‘2 กระทรวง’เสริมทีมพ่นยุง 17,000 ทีมทั่วประเทศ ป้องกันไข้เลือดออกระบาด

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คร.ได้ร่วมหารือกับนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางและมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก ทั้งในส่วนภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร รวมถึงการเพิ่มทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายในทุกจังหวัด ก่อนฤดูระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยโรคไข้เลือดออกในปี 2558 มีผู้ป่วยถึง 142,925 ราย เสียชีวิต 141 ราย ส่วนในปี 2559 จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 13,411 ราย เสียชีวิต 8 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระยอง กรุงเทพฯ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต ซึ่งในปีนี้คาดการณ์จากการพยากรณ์โรคว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีก และอาจมากกว่า 166,000 ราย จากภาวะโลกร้อนทำให้วงจรการเกิดยุงเร็วขึ้นและเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น โรคที่เกิดจากยุงลายพาหะจึงมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น เช่น ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นต้น โดยเฉพาะในหน่วยงานระดับท้องถิ่นและชุมชน ต้องร่วมมือและเร่งรัดกำจัดกวาดล้างยุงลายพาหะนำโรคเพื่อป้องกันโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง

นพ.อำนวยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วย 8 หน่วยงานระดับกระทรวง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร ที่มีเจตจำนงจะพัฒนาผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดจากการหารือกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันวางแนวทางและมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยแนวทางหนึ่งคือ เพิ่มทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายในทุกจังหวัด จากเดิมมีประมาณ 8,000 ทีมอยู่แล้ว โดยขอเพิ่มให้มีมากกว่า 17,000 ทีม โดย คร.จะสนับสนุน 1.ทีมพ่นกำจัดยุงลาย ในสัดส่วน อบต. และเทศบาลตำบล อย่างน้อย 2 ทีม/แห่ง เทศบาลเมืองอย่างน้อย 5 ทีม/แห่ง และเทศบาลนคร อย่างน้อย 10 ทีม/แห่ง

นพ.อำนวยกล่าวอีกว่า 2.ขอ อบจ.สนับสนุนการจัดอบรมทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายในแต่ละจังหวัดให้ได้มาตรฐาน ช่วงก่อนเข้าฤดูการระบาด โดยกรมควบคุมโรคจะร่วมสนับสนุนวิทยากร สื่อ/อุปกรณ์การอบรม 3.ขอให้ อปท.ทุกระดับจัดหาอุปกรณ์ในการพ่นสารเคมีที่ได้มาตรฐานข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค และสารเคมีให้เพียงพอกับการควบคุมยุงพาหะที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ เพื่อเตรียมความพร้อมใช้ในฤดูการระบาดของโรค ในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และ 4.ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นประธานกรรมการควบคุมโรคจังหวัด ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 สนับสนุนการผลักดันเรื่องมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image