เครือข่ายแบน ‘พาราควอต’ นัดชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบฯ 5มิ.ย.

แฟ้มภาพ

หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ใช้สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแปลงเกษตรกรรมนั้น

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร เปิดเผยว่า ล่าสุดเครือข่ายฯ ได้มีการประชุมผ่านระบบไลน์กลุ่มที่มีสมาชิกจาก 60 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีจากหลากหลายกลุ่ม อาทิ ผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชาวสวนยาง ฯลฯ ได้ข้อสรุปว่า จะขอใช้สิทธิตามกฎหมายเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนเรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยได้นัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ซึ่งตรงกับวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก ส่วนรูปแบบการชุมนุมนั้น ยังต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันเดียวกันสมาชิกเครือข่ายฯ ใน 60 จังหวัด จะมีการชุมนุมและจัดกิจกรรมต่อต้านการใช้สารเคมีอันตรายอยู่ในพื้นที่เช่นกัน

“พวกเราต้องการแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า สารเคมีเหล่านี้มีปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงๆ และพวกเราไม่ต้องการให้ใช้ต่อไป ที่สำคัญก่อนหน้านี้ กลุ่มประชาคมนักวิชาการทุกภาคส่วนก็ออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าหลายประเทศทั่วโลกเขายกเลิกการใช้แล้ว แม้แต่ในประเทศที่เคยเป็นผู้ผลิตอย่างจีน ก็ยุติการใช้ในประเทศเด็ดขาด มีแต่ผลิตแล้วส่งออกเท่านั้น ก็แสดงแล้วว่าแม้แต่จีนยังเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนในประเทศ ดังนั้นในเมื่อเราออกมาเรียกร้องทุกช่องทางแล้ว ท่านยังไม่สนใจ เราก็จะขอใช้สิทธิชุมนุมในที่สาธารณะต่อไป” นายวิฑูรย์ กล่าว

Advertisement

ด้าน รศ.จิราพร ลิ้นปานานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวถึงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจัดทำแผนจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอย่างเข้มงวด โดยให้เวลา 60 วัน ว่า ยังไม่หยุดความพยายามที่จะให้ยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด โดยจะติดตามต่อไปว่ากรมวิชาการเกษตรจะมีแผนจัดการความเสี่ยงในเรื่องนี้อย่างไร แต่โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่ารัฐจะจัดการความเสี่ยงในการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้

“หากกรมวิชาการเกษตรมีความจริงใจที่จะดำเนินการในเรื่องนี้จริง เขาน่าจะทำไปนานแล้ว เพราะปัจจุบันทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก็อยู่ในบัญชี อ.3 แต่ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่ผ่านมามีแต่เครือข่ายผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกรทางเลือก นักวิชาการ หน่วยงานด้านสุขภาพ ที่ออกมาเรียกร้องและเตือนให้สังคมเฝ้าระวังอันตรายจากการบริโภคพืชผักที่ปนเปื้อนสารพิษ แต่ไม่เคยเห็นคนจากหน่วยงานที่อยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกมาเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้เลย” รศ.จิราพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image