อ.ก.ค.ศ.ตีกลับเกณฑ์คัดเลือก ‘บิ๊กร.ร.’ หลังสพฐ.ชง ‘กลุ่มประสบการณ์’ ไม่ต้องสอบ

นางจินตนา มีแสงพราว รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอขอให้ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.โดยขอให้ผู้ที่เข้าคัดเลือกในกลุ่มประสบการณ์ ไม่ต้องผ่านการสอบข้อเขียน แต่ที่ประชุมยังไม่เห็นชอบ โดยขอให้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของ ก.ค.ศ.และ สพฐ.มาพูดคุย เพื่อจัดทำรายละเอียด รวมถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องปรับ มาให้พิจารณาในการประชุม อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ครั้งต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หากที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ให้ความเห็นชอบ จะต้องเสนอให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ.ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ต่อไป

“สพฐ.เสนอขอปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มประสบการณ์ แต่ยังไม่มีเหตุผล และรายละเอียดที่ชัดเจนประกอบการพิจารณา บอกแต่เพียงว่าที่ผ่านมามีจำนวนผู้สอบผ่านการคัดเลือกได้น้อยกว่าตำแหน่งว่าง จึงเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์ในกลุ่มประสบการณ์ ขอให้ไม่ต้องสอบข้อเขียน ดังนั้น จึงให้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ก.ค.ศ.และ สพฐ.ก่อน เพื่อหาเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องปรับ โดยไปดูหลักเกณฑ์การคัดเลือกในหลายด้าน ว่าส่วนใหญ่แล้วผู้สอบคัดเลือกไม่ผ่านหลักเกณฑ์ใด เป็นเพราะข้อสอบยากเกินไป หรือเป็นเพราะอะไร ส่วนจะเป็นเพราะข้อสอบคัดเลือกยากเกินไปหรือไม่นั้น ดิฉันไม่ทราบ เพราะข้อสอบจะเป็นความลับ โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องไปหารือกัน แต่หากเห็นว่าจำเป็นต้องปรับจริงๆ ก็เสนอให้ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์นี้” นางจินตนากล่าว

นางจินตนากล่าวอีกว่า ส่วนการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ สังกัด สพฐ.นั้น ถือเป็นอำนาจของ สพฐ.ในการคัดเลือกโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แจ้ง สพฐ.พิจารณา ประกาศให้เป็นสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ โดยให้คำนึงถึงพื้นที่ที่เป็นเกาะ หรือบนภูเขาสูง หรือหุบเขา หรือเชิงเขา ที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใดๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ โดยจะมีคณะกรรมการคัดเลือกตามเกณฑ์ของ สพฐ.โดยไม่ต้องรายงานให้ ก.ค.ศ.รับทราบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image