เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “สมาพ่อปู่ป้อมมหากาฬ” ประจำปี 2561 ขออโหสิกรรมพ่อปู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชุมชนนับถือ เพื่อเป็นการอำลาผืนแผ่นดินบรรพชน หลังจากมีการจัดพิธีนี้ติดต่อกันมายาวนานกว่า 60 ปี เนื่องจากพื้นที่บ้านถูกรื้อถอน และชาวชุมชนไม่ได้อยู่บริเวณนี้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยชาวป้อมหลายสิบคน นำโดยนายพีระพล เหมรัตน์ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬคนปัจจุบัน แต่งกายด้วยผ้าไทยสีสันสดใส ตั้งขบวนแห่กลองยาว พร้อมร่ายรำกันอย่างคึกคัก แห่เครื่องเซ่นไหว้ อาทิ หัวหมู ปลายำ และไข่ต้ม มุ่งหน้าสู่บริเวณ “เชิงเทินป้อม” เมื่อครบ 3 รอบจึงเริ่มพิธีไหว้พ่อปู่ เพื่อเป็นการหวนรำลึกและอำลาพ่อปู่ ทั้งนี้ การทำพิธีดังกล่าวได้รับการอำนวยความสะดวกโดยรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศกรุงเทพมหานคร พลตรี มนัส จันดี เข้าร่วมพิธีในเช้าวันนี้ด้วย แต่ในปีนี้ชุมชนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของพิธี จากเดิม 3 จุด เป็น 2 จุด ได้แก่ ที่เชิงเทินป้อม และจุดที่สองที่ศาลตายายริมคลอง โดยย้ายจากลานกลางชุมชม
นายพีระพลกล่าวว่า การทำพิธีสมาพ่อปู่ครั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากสมาชิกในชุมชนแยกย้ายไปอยู่ในที่ต่างๆ จึงรวมตัวกันได้ยากขึ้น หลังจากต่อสู้มายาวนานกว่า 25 ปี ถึงตอนนี้เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่า แต่รู้สึกว่าเหมือนทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง เป็นเรื่องยากที่อธิบายได้ว่า ชุมชนป้อมมหากาฬเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างไร วันที่คนชุมชนป้อมมหากาฬจำต้องเอ่ยคำเชื้อเชิญเพื่อน พี่น้อง มิตรสหาย กัลยาณมิตรทุกคนมารวมกันเป็นครั้งสุดท้าย
“เราอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้มา 40 กว่าปี ซึ่งตอนนี้อายุเกือบจะ 60 ปีแล้ว เพราะย้ายตามพ่อแม่มาอยู่ที่นี่ ได้เห็นชุมชนนี้มาตั้งแต่เด็ก เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานเป็นร้อยๆ ปี เป็นรากเหง้าของชุมชน มันมีความสำคัญ แต่เนื่องจากมีการพัฒนาเมืองเกิดขึ้น แรกๆ เราก็ต่อสู้ เพื่อหวังอยากจะอยู่ในที่ดินผืนเดิม แต่เราสู้กันมา 20 กว่าปีแล้ว มันไม่เกิด ชาวบ้านบางคนก็ถอดใจบ้าง บางคนก็ยังสู้อยู่ แต่ท้ายที่สุด เราก็ต้องยอมรับว่าเราอยู่แล้วเราผิดกฎหมาย ไม่อยากสู้แล้ว จึงให้หน่วยงานภาครัฐจัดที่อยู่ให้ และยินยอมที่จะย้ายออกไป อาชีพของคนในชุมชนก็ยังตามไป ยังทำงานได้ ยกตัวอย่าง ผมก็ไปอยู่ย่านเกียกกาย ไปจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อจัดตั้งสหกรณ์ แล้วเช่าที่ของกรมธนารักษ์ 30 ปี”
นายพีรพลกล่าวต่อว่า พวกเราชาวชุมชนป้อมมหากาฬมีความผูกพันกับผืนดินแห่งนี้อย่างแน่นอน เพราะตอนเราอยู่ เราก็ศึกษาประวัติชุมชน พอมาโดนเรื่องการต่อสู้ และที่อยู่อาศัยก็ต้องออกจากงาน แต่เราสู้มาตลอด กระทั่งวันนี้ต้องกระจายกันไปอยู่ในที่ต่างๆ ที่รัฐจัดให้ แต่ก็ยังมีการติดต่อกันอยู่ ส่วนมากจะจับกลุ่มกันอยู่
“ชีวิตเปลี่ยน แต่เปลี่ยนแค่ช่วงแรก มนุษย์เราก็ต้องปรับตัว ผมไม่เชื่อว่าใครจะปรับตัวไม่ได้ ผมเชื่อเลยว่าต้องปรับ แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ด้วยความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายทำให้ตอนนี้ชาวบ้านมีความพึงพอใจมาก และฝากขอบคุณไว้เลยตรงนี้ ที่ทำให้ชาวบ้านยังดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยยังอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์”
นายพีรพลบอกอีกว่า ปัจจุบันมีชาวชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ที่สถานพักพิงชั่วคราวที่การประปาเก่า บริเวณแม้นศรี ชาวชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ย้ายออกไปก่อนแล้วเมื่อเดือน ม.ค. มีชาวชุมชนไปอาศัยที่การประปาประมาณ 60 คน โดยจะมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อไปกู้เงินกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซื้อที่ดินและปลูกบ้านบริเวณเกียกกาย ร่วมกับชุมชนทอผ้าที่จะย้ายไปอยู่ที่เดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 08.45 น. ขณะทำพิธีได้เกิดเหตุการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด สร้างความประหลาดใจให้ทุกคนในพิธีเป็นอย่างมาก หลังจากพิธีสมาพ่อปู่ในช่วงเช้า ไม่มีการเสวนาอย่างเช่นเคย เปลี่ยนเป็นการรับประทานอาหารร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายกันเดินทางกลับในตอนบ่าย
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในงานสมาพ่อปู่ครั้งนี้ไม่มีชาวบ้านกลุ่มสุดท้ายที่ยืนหยัดอยู่ในชุมชนเข้าร่วมแต่อย่างใด รวมถึงนายธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชน และนายพรเทพ บูรณบุรีเดช อดีตรองประธานชุมชน ซึ่งไม่ได้เดินทางเข้าร่วมเช่นกัน โดยชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ชุมชนกัลยาณมิตร ย่านบางซื่อ