“กลุ่มสูงวัย” รวมตัวหน้าทำเนียบ ยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” เรียกร้อง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 5 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องในรัฐบาลขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ ให้มีการจัดระบบบำนาญพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุทุกกลุ่ม โดยมีผู้สูงอายุและตัวแทนเครือข่ายประมาณ 300 คน

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์และวันผู้สูงอายุ เครือข่ายต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ด้วยการเดินหน้าจัดทำ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ หลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้ปัดตกไป ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ระบุให้รัฐจัดระบบบำนาญพื้นฐานให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ให้กับประชาชนเมื่อเป็นผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ด้วยการจัดระบบการออมเพื่อบำเหน็จบำนาญ และกองทุนเงินออมเพื่อบำเหน็จบำนาญ โดยมีคณะกรรมการกำกับควบคุมดูแลแต่ละกองทุนไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ และมีการนำเงินในกองทุนไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สมาชิกในกองทุน โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นภาคบังคับให้ประชาชนออมเงิน นอกเหนือจากที่ปัจจุบันมีระบบสมัครใจคือกองทุนการออมแห่งชาติ ส่วนประชาชนที่ไม่มีรายได้ รัฐบาลก็ต้องหาแนวทางสนับสนุนอาชีพ เพื่อให้สามารถสมทบเงินเข้ากองทุน

น.ส.สุรีรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนที่มีบำนาญคือข้าราชการ ซึ่งได้รับเงินจากเงินแผ่นดินปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท อีกกลุ่มคือผู้ประกันตน ซึ่งมาจากเงินออมของตัวเองตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่มีบำนาญจะได้รับเบี้ยยังชีพประมาณเดือนละ 600 บาท ซึ่งมีประมาณ 8 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 64,000 ล้านบาท แต่จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่าผู้สูงอายุจะมีรายจ่ายต่อเดือนที่เหมาะสมอยู่ที่ 2,600 บาท ดังนั้นหากมีการออก พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ รัฐบาลอาจต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเงินบำนาญ ซึ่งอาจต้องมีการปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1 รัฐจะจัดเก็บได้ถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี และเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ หากทราบว่าเป็นการเพิ่มภาษีเพื่อนำมาเพิ่มสวัสดิการบำนาญให้กับทุกคน

“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 15 มีฐานะยากจนไปจนถึงไม่มีรายได้ ดังนั้น การยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี จึงต้องการรณรงค์ประชาชนเห็นความสำคัญของการวางแผนออมเงินเพื่ออนาคตเมื่อ เป็นผู้สูงอายุ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีเงินครองชีพอย่างเหมาะสม” น.ส.สุรีรัตน์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image