กรมวิทย์ฯ เดินหน้าพัฒนา ‘เซลล์เพาะเลี้ยง’ ผลิตวัคซีนโรคหลายชนิด

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่เป็นอุปสรรค คือการตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยงที่ใช้ในการผลิต ดังนั้นจึงได้มีแผนการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ และความร่วมมือกับหน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐด้านวัคซีนของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อส่งบุคลากรเข้าอบรมเทคนิคการตรวจวิเคราะห์คุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยง โดยเฉพาะเซลล์ (Vero cell) ซึ่งเป็นเซลล์เพาะเลี้ยงที่ใช้ในการผลิตวัคซีนได้หลายชนิดโดยเฉพาะวัคซีนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ประเทศไทยกำลังจะพัฒนาเป็นวัคซีนในอนาคต

ปัจจุบันวัคซีนที่ผลิตด้วยเซลล์เพาะเลี้ยงมีหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น แต่บ้านเรายังไม่มีห้องปฏิบัติการที่ตรวจคุณลักษณะของเซลล์ได้ตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ผลิตและนักวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศต้องส่งเซลล์เพาะเลี้ยงไปทดสอบคุณลักษณะในต่างประเทศ เพื่อยืนยันว่าเซลล์เพาะเลี้ยงนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ใช้ผลิตวัคซีน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านบาท

นพ.สุขุมกล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววัตถุ ในฐานะห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพวัคซีนของประเทศ กำลังดำเนินการพัฒนาการตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นเซลล์เพาะเลี้ยงที่ได้มาจากไตของลิงในประเทศแอฟริกา และเป็นเซลล์ที่ประเทศทั่วโลกรวมถึงองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตวัคซีน แต่ผู้ผลิตต้องมีข้อมูลการตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์ก่อนนำมาใช้ในการผลิต ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์คุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยง ภายหลังจากได้รับการอบรมจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและคาดว่าสามารถให้บริการได้ในปี 2562 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย

“การตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยงโดยหน่วยงานควบคุมคุณภาพภาครัฐของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมดูแลคุณภาพของเซลล์ที่จะนำมาใช้ในการผลิตวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ผลิตโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยงในประเทศไทย มีระบบควบคุมคุณภาพตั้งแต่การผลิต จนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล สิ่งสำคัญคือจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งเซลล์ไปตรวจในต่างประเทศ เป็นการพึ่งพาตนเองในประเทศ และส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีน รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0” อธิบดีฯกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image