เปิดร่างสิทธิประโยชน์ ‘เพิ่มเงินสมทบ’ ผู้ประกันตน 800-1,000 บ.ได้อะไร

กราฟิกมติชนรายวัน

จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเดินหน้าขยายเพดานเงินเดือนจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท เพื่อนำมาเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบร้อยละ 5 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์เพิ่มทั้งหมด แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเฉลี่ยตั้งแต่ 800-1,000 บาท จนเกิดคำถามว่า หากจ่ายเพิ่มจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไร

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ได้จัดทำรายละเอียดคร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย โดยฐานเดิมที่คำนวณจากเพดานสูงสุดเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ถึงจะมีเงินเดือนสูงกว่านั้นก็จ่ายเท่าเดิมที่อัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือนสูงสุดที่กำหนด ทำให้จ่ายเดือนละ 750 บาท ซึ่งสิทธิที่ได้ ณ ปัจจุบัน คือกรณีเจ็บป่วย ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 30 วันต่อปี หากเกินกว่านั้นจะได้เงินชดเชย 7,500 บาทจากประกันสังคม กรณีทุพพลภาพจะได้ 7,500 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต กรณีลาคลอดบุตร 45 วันของประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนจำนวน 22,500 บาท

กรณีเงินสงเคราะห์ตาย หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 10 ปี หากเสียชีวิตจะได้เงินสงเคราะห์ 6 เดือน หรือ 90,000 บาท กรณีชราภาพได้ 3,000 บาท ยังไม่นับรวมเพิ่มปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปี กรณีว่างงานลาออกได้เงินชดเชยการว่างงาน 3 เดือน คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือน หรือได้ประมาณ 4,500 บาท ส่วนกรณีว่างงานจากการเลิกจ้าง ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนจำนวน 6 เดือน หรือ 7,500 บาท

แต่สำหรับการขยายฐานเงินเดือนใหม่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์เหล่านี้ขึ้น ยกตัวอย่าง คนที่ฐานเงินเดือนอยู่ที่ 16,000 บาท ก็จ่ายสมทบเพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือน จะได้เงินเพิ่มกรณีเจ็บป่วย 8,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 8,000 บาทต่อเดือนไปตลอดชีวิต กรณีลาคลอดบุตร 45 วันของประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนจำนวน 24,000 บาท กรณีเงินสงเคราะห์การเสียชีวิต หากส่งเกิน 10 ปีจะได้เงินชดเชย 6 เดือน จำนวน  96,000 บาท กรณีชราภาพได้เงิน 3,200 บาทต่อเดือน ยังไม่นับรวมเพิ่มปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปี กรณีว่างงานจากการลาออกได้เงิน 4,800 บาท และกรณีว่างงานจากการเลิกจ้างได้เงินจำนวน 8,000 บาท เป็นต้น จะเห็นว่าหากมีการปรับเพิ่ม สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็ต้องรอการปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 5

Advertisement

โดยร่างดังกล่าวจะออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งหากผ่านคณะรัฐมนตรีก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำส่ง ครม. และส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนาม เพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ข้อมูลจากเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image