กทม. โต้กลับ ‘อาคารพระยาญาณประกาศ’ ไม่ใช่โบราณสถาน-ไม่อยู่ในบัญชีเตรียมขึ้นทะเบียน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 22 มิถุนายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง นางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหารสำนักการโยธาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในป้อมมหากาฬ เขตพระนคร พร้อมตรวจเยี่ยมการบำรุงอาคารโบราณ หรือ “อาคารพระยาญาณประกาศ”

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ภายหลังชุมชนป้อมมหากาฬรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากป้อมมหากาฬ กทม.ได้พยายามปรับปรุงภูมิทัศน์ชั่วคราว เพื่อเร่งคืนสภาพเป็นสวนสาธารณะ ที่ผ่านมา กทม.ปรับหน้าดิน ปูหญ้าสีเขียว ตัดแต่งกิ่งไม้ให้สวยงาม โดยไม่ตัดทำลายต้นไม้ ขณะเดียวกันพยายามบำรุงรักษาอาคารพระยาญาณประกาศให้คงสภาพไว้เป็นอาคารโบราณ โดยการปรับปรุงภูมิทัศน์ชั่วคราวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมเดือนพฤษภาคม เพราะติดอุปสรรคฝนตก ทำให้ กทม.ปรับหน้าดินไม่ได้ แม้ปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์ 100% แต่ประชาชนสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมและพักผ่อนภายในป้อมมหากาฬได้แล้ว โดยทั้งหมดทั้งปวง กทม.ชี้แจงว่าเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ชั่วคราวและใช้งบประมาณไม่มาก ส่วนแผนปรับปรุงถาวร กทม.จำเป็นต้องหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป

 

Advertisement

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า เมื่อปี 2492 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวป้อมปราการและกำแพงป้อมเท่านั้น ส่วนอื่นภายในป้อมมหากาฬ อาทิ บ้านเรือน อาคารพระยาญาณประกาศ ฯลฯ กรมศิลปากรไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ หลังจากกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว จากนั้นจะเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อที่ดิน ระหว่างปี 2503-2516 กทม.ทยอยซื้อที่ดินจำนวน 10 แปลง เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ตาม “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณป้อมมหากาฬ เพื่อทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานแห่งชาติ” ต่อมาประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินอีก 10 แปลง และกระทรวงการคลังมอบที่ดินให้ กทม.อีก 1 แปลง ซึ่งโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นไปเพื่อดูแลป้อมปราการและกำแพงป้อมไปคราวเดียวกัน กระทั่ง กทม.ได้ที่ดินคืนและพยายามดำเนินโครงการให้บรรลุตามประสงค์

“ส่วนอาคารพระยาญาณประกาศ ยืนยันว่าไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแน่นอน หลังชาวบ้านได้ย้ายออกไปหมดแล้ว กทม.ได้เข้ามาตรวจสอบอาคาร พบอาคารไม่ได้รับการทะนุบำรุงมามากกว่า 10 ปี ภายในสภาพเก่าและทรุดโทรมมาก ก่อนสำนักการโยธาเข้ามาตรวจสอบ พบหลายส่วนของอาคารไม่มั่นคงแข็งแรง จากนั้นจึงมีข้อสรุปตรงกัน ให้ทะนุบำรุงอาคารเก็บไว้คงสภาพเดิมมากที่สุด ผมได้เน้นย้ำการบำรุงห้ามดัดแปลงและเพิ่มเติมภายในตัวอาคารเด็ดขาด ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างบำรุงอาคารให้มีสภาพมั่นคง แม้ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานก็ตาม ทั้งนี้ หากตรวจพบบางส่วนชำรุด กทม.จะจัดหาสิ่งที่คล้ายของเดิมไปทดแทน แต่ถามว่าการทาสีอาคารนั้นทำได้หรือไม่ ย่อมทำได้ เพราะเป็นการบำรุงรักษาอาคาร เช่นเดียวกับที่ทาสีบำรุงตัวป้อมปราการ แต่ตัวป้อมนั้นเป็นโบราณสถาน ต้องขออนุญาตกรมศิลปากร ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ” รองผู้ว่าฯกทม.ระบุ

Advertisement

นายจักกพันธุ์กล่าวอีกว่า การบำรุงอาคารพระยาญาณประกาศนั้น กทม.มีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงรักษาอาคารโบราณไว้เช่นเดียวกับป้อมปราการและกำแพงป้อม เพราะไม่อยากให้ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการบำรุง ตอนนี้สภาพกำแพงบางส่วนเริ่มทรุดตัวเพราะถูกทิ้งไว้นาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม.ได้จัดสรรงบประมาณปี 2561 ให้สำนักผังเมือง จำนวน 69 ล้านบาทแล้ว เพื่อปรับปรุงส่วนโบราณสถาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือรายละเอียดกับกรมศิลปากรตามขั้นตอนการบูรณะโบราณสถาน โดยยืนยันว่า กทม.ได้หารือกับกรมศิลปากรในการปรับปรุงโบราณสถานภายในป้อมมหากาฬ รวมถึงโบราณสถานอื่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย พร้อมยืนยันอีกครั้งว่าอาคารพระยาญาณประกาศไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ดังนั้น การเข้าไปบำรุงรักษาให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงย่อมทำได้ แต่หลังจากอาคารมั่นคงแข็งแรงแล้ว การจะปรับปรุงอาคารลักษณะถาวรต้องหารือกับกรมศิลปากร รวมถึงการจัดทำสวนสาธารณะลักษณะถาวรด้วย เพราะไม่เพียงแต่เป็นโบราณสถาน แต่อยู่ในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งจำเป็นต้องให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และกรุงเก่า ร่วมพิจารณาด้วย

ผู้บริหารสำนักการโยธากล่าวว่า สำนักการโยธาได้เข้ามาบำรุงรักษาอาคารตามสภาพเดิมและเสริมความมั่นคง ไม่ให้ตัวอาคารทรุดลงมา อาทิ การทาสี เสริมพื้นไม้ที่ถูกปลวกแทะจนทรุดโทรม ฯลฯ ส่วนอิฐมอญ ซึ่งเป็นของเดิมใช้วิธีสลักน้ำปูนเข้าไปเพื่อรักษาสภาพ โดยภายในอาคารทั้งหมดไม่มีการฉาบและต่อเติมส่วนอื่นส่วนใดเข้าไปทั้งสิ้น ก่อนหน้าที่ กทม.จะเข้ามาปรับปรุง พบอาคารทรุดโทรมมาก เดิมอาคารถูกชาวบ้านแบ่งห้องเป็นล็อกให้คนเช่าอาศัย แต่ละห้องมีการทาสีตัวอาคารจนสีเดิมเพี้ยน ตอกตะปู และผนังถูกขีดเขียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไม่ได้รับการทะนุบำรุงมาเป็นเวลานาน กทม.จึงเข้ามาบำรุงทาสีตามสภาพเดิมที่ควรจะเป็น เหล็กดัดหน้าต่างเดิมก็คงไว้ ทุกอย่างคงเดิมไว้หมด แม้บ้านเลขที่ยังติดอยู่ที่เดิม วงกบประตูก็เหมือนเดิม แต่อะไรที่ขาดหายไปก็หาสิ่งที่คล้ายของเก่ามากที่สุดมาเสริมเช่นพื้นไม้ที่ทรุดตัว

“ส่วนท่าเรือโบราณนั้น ถูกเปลี่ยนสภาพมานานหลายสิบปีแล้ว เพราะอดีตมีการสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (ดาดท้องคลอง) ริมคลองโอ่งอ่าง ปัจจุบันหลงเหลือเพียงบันได กทม.ยืนยันไม่เคยแตะต้อง ส่วนท่าริมน้ำนั้น เป็นท่าน้ำที่สร้างขึ้นมาใหม่ทีหลัง ไม่ใช่ของโบราณ สร้างขึ้นเป็นท่าน้ำสำหรับไว้ลอยกระทง” ผู้บริหารสำนักการโยธากล่าว

ด้านนายศักดิ์ชัยกล่าวว่า “ยืนยันอาคารพระยาญาณประกาศไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและไม่ได้อยู่ในบัญชีที่เตรียมขึ้นทะเบียนด้วย”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในป้อมมหากาฬ พบปัจจุบันพบการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะคืบหน้าไปมาก ภายในมีห้องน้ำน็อกดาวน์ที่ กทม.ได้รับบริจาคจากเอสซีจีไว้บริการประชาชน อีกทั้งเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยบางส่วนเข้ามาเที่ยวชมภายในป้อมมหากาฬแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image