เปิดแนวทางปฏิรูป สปส. ครั้งใหญ่ คสรท.ถามรบ.ค้างจ่าย 5 หมื่นล.อยู่ไหน

ตามที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ผลักดันนโยบายขยายฐานเพดานเงินเดือนจาก 1.5 หมื่นบาทเป็น 2 หมื่นบาท ในการคำนวณเงินสมทบเข้ากองทุน แต่ยังคงเก็บในอัตราร้อยละ 5 เหมือนเดิม โดยจะเก็บเพิ่มระหว่าง 800-1,000 บาท ปรากฎว่ายังไม่ทันประกาศใช้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างนั้น 

 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ในฐานะนักวิจัยสิทธิแรงงาน กล่าวว่า จริงๆประกันสังคมต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ และต้องปฎิรูปในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะการปรับให้เป็นองค์กรที่ทำงานโดยอิสระ ไม่ใช่เหมือนราชการทุกวันนี้ เนื่องจากประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินของผู้ประกันตนจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน การทำงานต้องคล่องตัว เป็นอิสระมากกว่าที่จะอิงระบบราชการ เพราะที่ผ่านมากว่าจะพิจารณาแต่ละเรื่องต้องผ่านอนุกรรมการมากมาย อย่างกรณีการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมก็ยังไม่ดำเนินการ ล่าสุดตั้งอนุกรรมการยกร่างระเบียบการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่บอร์ดชุดเก่าที่ตั้งขึ้นด้วยม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)หมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 จะครึ่งปีแล้วยังไม่มีบอร์ดจริงๆเสียที

 “นี่คือการทำงานที่ไม่คล่องตัว อิงระบบราชการทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ประกันสังคมต้องทำงานอย่างอิสระ มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ จะเป็นองค์การมหาชน หรือจะเป็นหน่วยงานแบบไหนขอมีความเป็นอิสระเป็นพอ เพื่อให้มีการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วและเพื่อประโยชน์ผู้ประกันตน ยกตัวอย่าง  กรณีการปรับฐานค่าจ้างเพื่อนำมาคิดคำนวณปรับเงินสมทบในกลุ่มฐานเงินเดือน 15,000   บาทเป็น 20,000 บาท ผมเห็นด้วย เพียงแต่เรื่องนี้ก็อาจติดขัดอยู่ เพราะอาจมีคนเข้าใจผิดว่า การปรับฐานค่าจ้างเพื่อนำมาคิดคำนวณปรับเงินสมทบนั้นจะกระทบไปหมด แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทยังจ่ายเงินสมทบเท่าเดิม ไม่เพียงแต่เรื่องการปรับฐานเงินค่าจ้างเพื่อคิดการจ่ายเงินสมทบ” นายบัณฑิตย์ กล่าว

นักวิจัยสิทธิแรงงาน กล่าวอีกว่า  ในแง่ของกฎหมายประกันสังคมก็ไม่มีการกำหนดหลักการคำนวณเงินบำนาญขั้นต่ำที่เพียงพอต่อค่าครองชีพของผู้ประกันตนที่รับบำนาญนั้นๆ  ซึ่งจริงๆ ควรมีการคำนวณในแต่ละปีว่า ปีนี้สำหรับผู้ประกันตนที่รับบำนาญเงินที่ได้รับเพียงพอหรือไม่  เพื่อนำมาคำนวณว่า การเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนควรเป็นอย่างไร  

Advertisement

 นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) กล่าวว่า คปค.และภาคีเครือข่าย 20 องค์กร อาทิ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิเพื่อนหญิง   สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และ สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ สนับสนุนการปฏิรูปประกันสังคม อย่างเรื่องการจ่ายเงินสมทบเพิ่มสำหรับผู้ประกันตนเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปที่ทางสปส.กำลังดำเนินการ ถือเป็นเรื่องที่ดี  ทราบมาว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นการให้ความรู้ความเข้าใจ  เพราะประชาพิจารณ์ผ่านไปแล้วส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งการเก็บเพิ่มส่วนนี้ประมาณ 800-1,000 บาทต่อคนขึ้นกับเงินเดือนแต่ละคน จะทำให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเพิ่มก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม และจะส่งผลดีต่อสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ฯลฯ

นายสมพร จองคำ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่สปส.ต้องเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้การบริหารงานให้รวดเร็วขึ้น ส่วนเรื่องการเก็บเงินสมทบเพิ่มสำหรับผู้มีเงินเดือน 15,000 เป็น 20,000 บาท ไม่ได้เห็นต่าง แต่เห็นว่าข้ามขั้นตอนไป จริงๆต้องไปดูก่อนว่า ให้รัฐเอาเงินที่ค้างจ่ายสมทบ 56,000 ล้านบาท เอามาช่วยในเรื่องให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนทุกกลุ่มก่อนดีกว่าหรือไม่ เพราะกรณีการเก็บเงินสมทบเพิ่มในผู้มีรายได้ 15,000 บาทขึ้นไปก็จะได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มฐานบน แต่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อภาพรวมจริงๆ ข้างล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนมาก 80 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้สิทธิประโยชน์ไปด้วย  ต้องมาคุยก่อนว่า ส่วนล่างได้อะไรด้วย จริงๆ การเอาเงินไปก็เหมือนมีนัยยะอะไรหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าการเก็บเงินจะเป็นอย่างไร ก็น่าคิดอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image