‘คนตาบอด’ ไทยวิกฤต รอคิวรับบริจาคดวงตา 20,000 คน เฉลี่ย 3-5 ปี บางคนตายก่อน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม รศ.พญ.เกวลิน เลขานนท์ แพทย์ประจำสาขาวิชากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ภาคจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี บรรยายหัวข้อ “บริจาคดวงตา สร้างคุณค่าให้ชีวิตใหม่” ในงาน “เฮลท์แคร์ 2018 สายตาดีมีสุข” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า การบริจาคดวงตา 2 ข้าง ใน 1 คน จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างน้อย 2 คน และดวงตา 1 ข้าง จะช่วยเหลือได้มากกว่า 1 คน เพราะดวงตา ประกอบด้วย กระจกตา ตาขาวและตาดำ สำหรับสภาวะตาบอดในประเทศไทยมีผู้ป่วยจากกระจกตาขุ่นถึง 16,000 คน โดยผู้ป่วย 8,030 คน หรือประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เพื่อให้ดวงตากลับมาเห็นอีกครั้ง

“แต่ปัจจุบันมีผู้บริจาคแต่ละปีจำนวนน้อยมาก โดยผู้ขอรับบริจาคจะต้องรอคอยดวงตาอย่างน้อย 3-5 ปี บางคนรอจนเสียชีวิตก็มี ส่วนใหญ่เป็นผู้มีโรคกระจกตาเสื่อม กระจกตาเป็นแผลเป็นและมีรูปร่างผิดปกติ เช่นเดียวกับสถิติคนขอรับบริจาคดวงตาก็เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 1,000 คน จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนกระจกตา” รศ.พญ.เกวลิน กล่าวและว่า ความเชื่อที่ว่าบริจาคร่างกายหรืออวัยวะ จะทำให้ชาติหน้ามีอวัยวะไม่ครบนั้น เป็นความเชื่ออดีต แต่ตามหลักพระพุทธศาสนาการบริจาคร่างกายเป็นการให้ทานอันสูงสุด ทั้งนี้ ชาวต่างชาติสามารถบริจาคดวงตาให้กันได้ แต่จะติดปัญหาเรื่องการเดินทาง เพราะจำเป็นต้องใช้ดวงตาในระยะเวลาที่กำหนด

รศ.พญ.เกวลิน กล่าวว่า ผู้ต้องการบริจาคดวงตาจะต้องแสดงความจำนงอุทิศดวงตาขณะมีชีวิตอยู่ หรือญาติผู้เสียชีวิตยินยอมบริจาคดวงตาเท่านั้น ไม่สามารถซื้อขายดวงตาให้ผู้อื่นได้เพราะผิดกฎหมาย หลังเสียชีวิตเจ้าหน้าที่จะจัดเก็บดวงตาตามความจำนงตามที่อยู่ตามบัตรประจำตัวผู้บริจาค และดวงตาที่ได้รับบริจาคจะผ่านกระบวนการตรวจสอบและเตรียมเนื้อเยื่อกระจกตาตามมาตรฐานสากล และนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ที่มีปัญหาการมองเห็นไม่ดี สำหรับผู้บริจาคจะต้องไม่เป็นโรคติดต่อทางกระแสเลือด อาทิ เอชไอวีหรือเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ส่วนผู้มีสายตาสั้น ยาวหรือเคยผ่าตัดเลสิกก็สามารถบริจาคได้ เงื่อนไขจะต้องมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เพราะหากอายุน้อยมากกระจกตาจะยังไม่แข็งแรง 100%

รศ.พญ.เกวลิน กล่าวว่า โอกาสที่ผู้ผ่าตัดดวงตาจะกลับมามองเห็นนั้น ขึ้นอยู่พื้นฐานดวงตา เช่น ไม่มีโรคต้อหิน โรคพื้นฐานซับซ้อน หากเนื้อเหยื่อเข้ากันได้สูง โอกาสจะกลับมาเห็นได้แน่นอนและอยู่ได้ตลอดชีวิต ยกเว้นมีภาวะแทรกซ้อน อายุดวงตาจะสั้นลงแต่สามารถเปลี่ยนใหม่ได้

Advertisement

“ดวงตาที่ได้รับบริจาคจะจัดเก็บตอนเสียชีวิตแล้วเท่านั้น และสามารถบริจาคพร้อมกับการบริจาคร่างกายและอวัยวะได้ ยกเว้นการบริจาคระหว่างอวัยวะกับร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ จะบริจาคร่วมกันไม่ได้ ทั้งนี้ ผู้สนใจแสดงความจำนงสามารถบริจาคดวงตาด้วยตนเองได้ที่ รพ.รามาธิบดี ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัดสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผ่าน www.eyebankthai.com” รศ.พญ.เกวลิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image