‘ตลาดประชารัฐ กทม.’ เหลว ‘รองผู้ว่าฯ’ อ้างผู้ค้ากั๊กลงทะเบียนเพียบ 6,000 กว่าคน

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมผู้บริหาร กทม. ผู้บริหารสำนักเทศกิจและหัวหน้าฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 สำนักงานเขต ซึ่งมี พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ มีเพียร พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. นายสมศักดิ์ ชาติสุขศิริเดช ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัด กทม. ร่วมประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้า “โครงการตลาดประชารัฐ กทม. คืนความสุข” ว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) มอบหมายให้ กทม.ตามโครงการตลาดประชารัฐฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัด กทม.มีบัญชาให้สำนักเทศกิจเป็นเจ้าภาพดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว จากนั้นให้รายงานต่อ มท. ก่อนนำเรียนต่อรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ สำนักเทศกิจได้รวบรวมผลการดำเนินการโครงการตลาดประชารัฐ กทม.จาก 50 สำนักงานเขต จากข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม มีจำนวนผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนตลาดประชารัฐ กทม. รวมทั้งสิ้น 7,810 ราย แบ่งออกเป็น 1.ผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้เข้าทำการค้าในตลาดประชารัฐ กทม. มีจำนวน 921 ราย คิดเป็น 11.80% 2.ผู้ประกอบการสละสิทธิ จำนวน 6,438 ราย คิดเป็น 82.43% และ 3.ผู้ประกอบการที่หลงเหลืออยู่ในบัญชีผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร จำนวน 451 ราย คิดเป็น 5.77% โดยผู้ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรอยู่ในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ สำนักงานเขตบางเขน 193 ราย อยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าของตลาดยิ่งเจริญ สำนักงานเขตบึงกุ่ม 165 ราย อยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับจากผู้ประกอบการและสำนักงานเขตยานนาวา 93 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดประชุมผู้ประกอบการ ทั้งนี้ มท. ในฐานะผู้รายงานผลของ กทม.ต่อรัฐบาลระบุว่า กทม.ไม่ค่อยตอบสนองนโยบายรัฐบาลเท่าที่ควร

นายสกลธีกล่าวว่า อยากให้สำนักเทศกิจดำเนินการจัดสรรพื้นที่่ต่อผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรทั้งหมดและหาพื้นที่ใหม่รองรับผู้ค้าเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้รัฐบาลต่อว่ามายัง กทม.ว่าไม่ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายเท่าที่ควร โดยการหาพื้นที่รองรับใหม่ ยังเพื่อรองรับกับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากที่กทม.จะทยอยยกเลิกจุดผ่อนผัน 243 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย

“สาเหตุผู้ค้าสละสิทธิจำนวนมากเพราะส่วนใหญ่มองว่าพื้นที่ที่ กทม.จัดหาให้ไม่ได้รับความนิยมเหมือนพื้นที่เก่า จึงมาลงทะเบียนกันที่ไว้ก่อนแล้วสละสิทธิไป ส่วนประชาชนร้องเรียนว่าพื้นที่ตลาดประชารัฐไม่สามารถขายสินได้เพราะอยู่ในพื้นที่อับนั้น กทม.ขอชี้แจงว่าการค้าขายให้ได้ประสิทธิภาพ 100% ค่อนข้างยาก เพราะจุดที่ กทม.จัดให้อย่างถูกกฎหมายนั้น ไม่สะดวกเหมือนจุดเดิมที่เคยค้าขายอย่างริมถนนสายหลัก คนเยอะ การจราจรพลุกพล่าน กทม.จึงไม่อาจทำให้ผู้ค้าพึงพอใจทั้งหมด แต่ กทม.มองว่าโอกาสเติบโตของตลาดก็มีมากขึ้นอยู่กับระยะเวลาและผู้ค้าต้องอดทน เช่น ตลาดจตุจักร เป็นต้น ไม่ใช่หวังแต่ว่าย้ายไปแล้วจะขายดีเหมือนเดิม” นายสกลธีกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image