เปิดแผนเร่งด่วนฟื้น ‘ถ้ำหลวง’ กรมอุทยานฯ คาดใช้16ล.

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า แผนการพัฒนาฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แบ่งเป็น 3 ด้าน แต่ละด้านประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน และระยะยาว

นายธัญญากล่าวว่า ระยะเร่งด่วน คือสิ่งที่จะทำทันทีนับจากนี้ ได้แก่ การแบ่งเขตการบริหารจัดการให้มีความชัดเจน โดยการกำหนด เขตบริการ อาคารสถานที่ ลานจอดรถ และห้องน้ำ เขตนันทนาการ ที่นั่งพัก สนามหญ้า และถ้ำต่างๆ เขตสงวนหวงห้าม พื้นที่ป่าโดยรอบของพื้นที่วนอุทยานที่มีเปราะบาง และกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ ตลอดจนการเข้าออกภายในถ้ำหลวง จัดการให้มีความชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีแผนการจัดให้มีอัตรากำลัง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฉพาะด้าน การจัดให้มียานพาหนะ จำนวน 3 คัน ได้แก่ รถขับเคลื่อน 4 ล้อ จำนวน 1 คัน รถเก็บขยะ จำนวน 1 คัน รถกู้ภัยขนาดเล็ก จำนวน 1 คัน

นายธัญญากล่าวต่อไปว่า ด้านการฟื้นฟูนั้น ระยะเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้คือ การปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์ 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณแหล่งท่องเที่ยวถ้ำหลวงและบริเวณแหล่งท่องเที่ยวขุนน้ำนางนอนด้วยการปลูกหญ้าจัดสวน จัดทำทางเดินเท้าจัดให้มีลานจอดรถ ที่นั่งพักบริเวณแหล่งท่องเที่ยวและป้ายสื่อความหมายต่างๆ การปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติภายในถ้ำหลวงระยะทาง 1,000 เมตร พร้อมระบบสื่อความหมายต่างๆ และการปรับปรุงฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำบริเวณถ้ำทรายทองบริเวณขุนน้ำนางนอน การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ดำเนินการค้นหาและกู้ภัยให้กับคืนสู่สภาพเดิม โดยการฟื้นฟู ตกแต่ง หรือปลูกต้นไม้ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม 3 แห่ง คือ บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์บ้านผาหมี บริเวณหลุมหรือปล่องถ้ำ 12 จุด และบริเวณที่มีการปิดกั้นเส้นทางน้ำและฝาย 5 จุด

นายธัญญากล่าวว่า สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ระยะยาว จะมีการปรับปรุงและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างของวนอุทยาน โดยการปรับปรุงซ่อมแซม อาคารที่ทำการวนอุทยาน จำนวน 1 หลัง อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ 4 หลัง อาคารศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว 1 หลัง ห้องน้ำ-ห้องสุขา 1 หลัง และปรับปรุงซ่อมแซมโรงจอดรถ จำนวน 1 หลัง การปรับปรุงและพัฒนาถนนลาดยางแบบมีไหล่ทาง และรางน้ำภายในและภายนอกของแหล่งท่องเที่ยววนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ระยะทาง 10 กิโลเมตร โดยการปรับปรุงและพัฒนาถนนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวถ้ำหลวง และแหล่งท่องเที่ยวขุนน้ำนางนอน นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โดยการปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบประปาที่เชื่อมต่อจากระบบน้ำบาดาลบริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งจะดำเนินการให้มีการออกแบบและคำนวณงบประมาณต่อไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการใช้งบประมาณ สำหรับการฟื้นฟูพื้นวนอุทยานถ้ำหลวงครั้งนี้ในเบื้องต้น ใช้งบ 42,323,000 บาท แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน 15,820,000 บาท ระยะยาว 26,500,000 บาท อย่างไรก็ตาม สำหรับงบซึ่งประมาณการไว้แล้วในเบื้องต้น อาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างในบางกิจกรรม เนื่องจากการขอรับการสนับสนุนงบในการพัฒนาด้านต่างๆ จะต้องมีแบบแปลนสิ่งก่อสร้าง (ปร.4/ ปร.) ก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image