สพฉ.ดันคู่มือสอนเอาตัวรอดใน 7 สถานการณ์ฉุกเฉิน แนะเที่ยวถ้ำพก ไฟฉาย-นกหวีด-เชือก

เหตุการณ์ที่นักฟุตบอลเเละโค้ช “ทีมหมูป่าอะคาเดมี่เเม่สาย” กว่า 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ทำให้เรื่องการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติสำหรับเด็กและเยาวชนได้กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีการพูดถึงกันในสังคมขณะนี้

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า การสอนให้เด็กเตรียมการรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่างๆ รวมถึงการสอนให้รู้ถึงวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นเรื่องจำเป็นและควรบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน เพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่าเด็กๆ จะพบเจอกับเหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ทางภัยพิบัติที่ไหน เมื่อใด อย่างไร

“ที่ผ่านมา สพฉ.ได้เคยจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากหลากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) มูลนิธิ หน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อช่วยกันยกร่างหลักสูตรการเรียนการสอนเด็กให้รู้จักการเอาตัวรอดจากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งหลังจากที่ระดมความคิดเห็นผ่านการทำเวิร์กช็อป (work shop) กับหลายหน่วยงาน ล่าสุดได้คลอดร่างคู่มือต้นแบบออกมา 7 เรื่อง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาและวิธีปฏิบัติจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ” นพ.ไพโรจน์กล่าว และว่า ทุกหลักสูตรนอกจากนี้สอนให้เอาตัวรอดแล้ว ยังสอนให้แจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ได้ด้วย

นพ.ไพโรจน์กล่าวว่า สำหรับ 7 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.การเอาตัวรอดจากการเดินเท้าทั้งบนฟุตปาธ ทางเดิน หรือแม้กระทั่งการข้ามถนน 2.การเรียนรู้และรับมือกับโรคจิตเวช หรือการเตรียมการรับมือกับเรื่องของภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียด 3.การเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน 4.การเรียนรู้อาการของโรคภาวะหัวใจขาดเลือด 5.การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุอัคคีภัยและเหตุอุทกภัยในทุกกรณี 6.การทำซีพีอาร์ (CPR) หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นต้น และ 7.การเรียนรู้ใช้งานเครื่องเออีดี (AED) เบื้องต้น

Advertisement

“นี่คือสิ่งที่กำลังพยายามผลักดันร่วมกับหลายหน่วยงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้เนื้อหาทั้งหมดเกือบแล้วเสร็จ เหลือเพียงการออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย และแต่ละชั้นเรียนเท่านั้น” นพ.ไพโรจน์กล่าว และว่า ในส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวในแถบภูเขา ทะเล หรือป่าอุทยาน จะต้องจัดให้มีองค์ความรู้เช่นกัน การเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตัวทั้งการป้องกันและแก้ไขเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ตั้งแต่ในโอกาสแรก เช่น หากเด็กๆ ไปท่องเที่ยวทางน้ำ ก็ต้องรู้วิธีสวมเสื้อชูชีพ ต้องรู้คุณสมบัติของชุดชูชีพว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร และในส่วนของการปีนเขา หรือการไปเที่ยวถ้ำ เด็กจะต้องรู้ว่า 3 สิ่งที่จำเป็นมาก คือ “ไฟฉาย” ที่ให้แสง “นกหวีด” ที่ทำให้เกิดเสียงได้ และ “เชือก” ซึ่งการใช้เชือกก็มีความสำคัญที่จะช่วยเหลือเขาได้ในหลายลักษณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image