กรมอุทยานฯเร่งฟื้น ‘ถ้ำหลวง’ เผยยังมีถังออกซิเจน-สายไฟอยู่ภายใน แต่นำออกไม่ได้เหตุน้ำสูง

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมด้วยนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมแถลงข่าวการดำเนินงานกรณีช่วยเหลือ 12 เยาวชน และโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่แม่สาย รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย

นายธัญญาแถลงว่า ภายหลังเหตุการณ์ที่ทั้ง 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวงตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานได้ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งสามารถนำทั้ง 13 ชีวิตออกมาได้อย่างปลอดภัยในวันที่ 10 กรกฎาคม รวม 17 วัน มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯเข้าช่วยดำเนินการทั้งสิ้น 657 นาย ส่วนการฟื้นฟูถ้ำหลวง ขณะนี้ได้ร่างแผนการฟื้นฟูถ้ำหลวงและปรับภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งระยะเร่งด่วนที่ดำเนินการไปแล้ว และแผนระยะยาวเตรียมเสนอต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อพิจารณาและเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม

นายธัญญาแถลงต่อไปว่า เบื้องต้นกรมอุทยานแห่งชาติฯได้สั่งปิดถ้ำหลวงโดยไม่มีกำหนดแล้ว แต่ขณะนี้ยังดำเนินการฟื้นฟูได้ยาก เนื่องจากระดับน้ำในถ้ำยังสูง ซึ่งภายในถ้ำยังมีถังออกซิเจน สายไฟจำนวนมากที่ยังเอาออกไม่ได้ การฟื้นฟูจึงยังระบุไม่ได้ว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงไหน แต่กรมอุทยานแห่งชาติฯจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด

“อย่างไรก็ตาม ได้ออกคำสั่งสำรวจ 169 ถ้ำ ที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ และวนอุทยานฯทั่วทุกประเทศ ต่อไปต้องมีแผนผังถ้ำระบุอย่างชัดเจน การเข้าออกถ้ำหลวงต้องมีการลงทะเบียนนักท่องเที่ยวทุกครั้ง ส่วนการประกาศปิดถ้ำชั่วคราวในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี แต่จากนี้การประกาศปิดอาจต้องนำข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาเข้ามาพิจารณาด้วย ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวควรศึกษาพยากรณ์อากาศก่อนการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน และในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะมีการเรียกประชุมหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มมาตรการการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวให้เข้มข้นมากขึ้น” นายธัญญากล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยกระดับจากวนอุทยานเป็นอุทยานแห่งชาติหรือไม่ นายธัญญากล่าวว่า การประกาศเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หลักสำคัญคือ การทำประชาพิจารณ์ว่าเหมาะสมกับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติหรือไม่ เบื้องต้นกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะทำการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อเร่งทำประชาพิจารณ์ต่อไป เพราะหากยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ฉะนั้นจะกระทบต่อวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้าน แต่มองว่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น ถ้ำหลวงจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ มีร้านค้า มีโฮมสเตย์เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนระยะเวลาในการทำประชาพิจารณ์นั้นยังระบุไม่ได้ เพราะกรมอุทยานแห่งชาติฯจะต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบด้านที่สุด ซึ่งหากยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติก็จะได้รับงบดูแลรักษาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพิ่มเติมมากขึ้น แต่ขณะนี้วนอุทยานถ้ำหลวงฯ ได้รับงบ 5 แสนบาทต่อปีเท่านั้น

ขณะที่นายจงคล้ายแถลงว่า ทุกภารกิจของการช่วยเหลือ ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มกำลัง สำหรับกรมอุทยานแห่งชาติฯได้มีภารกิจสนับสนุนปฏิบัติการค้นหาใน 3 เรื่องหลัก คือ การเบี่ยงทางน้ำ การสำรวจโพรงถ้ำ การขนส่งอุปกรณ์ให้ชุดปฏิบัติการภายในถ้ำ โดยภายหลังที่ภารกิจการช่วยเหลือสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติฯจะดำเนินการฟื้นฟูบริเวณโดยรอบพื้นที่ถ้ำหลวงให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เนื่องจากระบบนิเวศภายในถ้ำมีความเปราะบาง

“การฟื้นฟูด้านบนของถ้ำ ซึ่งโพรงส่วนใหญ่จะปฏิบัติการด้วยการมุดเข้าไป จึงไม่น่ากังวลว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศ แต่บางโพรงประมาณ 2-3 จุด มีการขุดเจาะบ้าง โพรงเหล่านี้ต้องให้นักวิชาการเข้ามาช่วยดำเนินการฟื้นฟูด้วย ส่วนลำห้วยมีการเบี่ยงน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติฯได้เก็บท่ออุปกรณ์ต่างๆ และฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพเดิมแล้ว” นายจงคล้ายกล่าว

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image