อุทยานฯ ขันน็อตเที่ยวถ้ำ เล็งเปลี่ยนเครื่องแบบกู้ภัย เหตุคนมองไม่เห็น

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการปฏิบัติและมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ:บทเรียนจากกรณีถ้ำหลวงและการท่องเที่ยวทางทะเล โดยมีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และวนอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม โดยนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า การจัดประชุมครั้งนี้มีขึ้นตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในเรื่องมาตรการและแนวทางรักษาความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางถ้ำและทางน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ล่อแหล่มเสี่ยงอันตรายทั้งทะเล แม่น้ำ ลำธาร น้ำตก ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมอุทยานฯ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้น แม้อุทยานฯ จะสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก แต่หากมีการสูญเสียชีวิตนักท่องเที่ยวแม้เพียงคนเดียวก็คงไม่มีอะไรมาทดแทนความเสียหายได้ ทั้งนี้จะมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และนำเสนอมาตรการการดำเนินการดูแลความปลอดภัยให้กับทางจังหวัดและกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยวต่อไป

ขณะที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไม่สมควรเกิดขึ้น หากเราไม่มีการปล่อยปละละเลยหรือหย่อนยาน วันนี้อุทยานฯหลายแห่งมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากทั้งการดื่มเหล้าและส่งเสียงดังในอุทยานฯ การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปหลายเรื่อง คำถามคือปล่อยให้เด็กเข้าไปในพื้นที่ได้อย่างไร ซึ่งตนรับบทหนักสุดเพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใดอธิบดีฯ ไม่ไปนั่งบัญชาการเองเพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งตนติดภารกิจในการชี้แจง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แต่ก็ได้ลงพื้นที่และมอบหมายรองอธิบดีกรมอุทยานฯ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.)ในพื้นที่ติดตามประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งในพื้นที่มี ผู้ว่าราชการ จ.เชียงรายเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์หลัก วันนี้ทุกหน่วยงานถอนออกจากพื้นที่หมดแล้ว บทสรุปคือกรมอุทยานฯ มีหน้าที่ในการฟื้นฟูถ้ำหลวงฯต่อ โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม นี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีทส.ให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมประชุมเพื่อดำเนินการในเรื่องการฟื้นฟูถ้ำต่อไป

 

Advertisement

นายธัญญา กล่าวว่า ในเรื่องการกำหนดการปิดถ้ำในความรับผิดชอบของกรมอุทยาน ขณะนี้สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่หัวหน้าอุทยานฯ และวนอุทยานฯ ตั้งเป็นเกณฑ์ว่าปิดในช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง สิงหาคม แต่วันนี้ฝนมาตั้งแต่เดือน มิถุนายน แล้ว จึงต้องปรับเปลี่ยนเวลาปิดให้เหมาะสม ต้องประเมินกับกรมอุตุนิยมวิทยาตลอดเวลา ถ้าหัวหน้าอุทยานฯ หัวหน้าวนอุทยานฯ ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ก็ไม่สมควรอยู่ในตำแหน่ง วันนี้ต้องช่วยกัน ตนจะอยู่ในตำแหน่งนานหรือไม่ ไม่กังวล แต่ในยุคตนต้องทำให้ดีที่สุด ตนพูดกับ พล.อ.สุรศักดิ์ ถ้ามีคนทำดีกว่าตนเอามาได้เลย ตนพร้อมถูกย้าย อยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ แต่จะทำอย่างไรตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ กรณีถ้ำหลวงฯ จะเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าของคนไทยและเจ้าหน้าที่ทุกคน จะร่วมมือกันอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น สิ่งแรกที่อยากให้ดำเนินการคือถ้ามีการเที่ยวถ้ำต้องมีการลงทะเบียนเข้า-ออก ป้อมยามต้องมีคนตลอดเวลา ถ้าไม่มีประตูเปิดปิดบริเวณหน้าถ้ำ ต้องมีการจัดเวรยามตลอด 24 ชม. หรือหากไม่สามารถเฝ้าได้ตลอดก็ต้องประเมินและติดตามเรื่องความปลอดภัย ต้องมีคำแนะนำ และชี้แจงให้กับนักท่องเที่ยวรับทราบว่าก่อนเข้าถ้ำต้องทำอย่างไร มีป้ายเตือนจุดอันตราย และป้ายสื่อความหมายให้ชัดเจน ขณะที่อุทยานฯ ทางทะเลก็ต้องมีการติดตามประเมินสภาพอากาศกับกรมอุตุฯ เช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีเรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ตขึ้นอีก

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวถึงการถอดบทเรียนจากการปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิตเหตุการณ์เยาวชนจากทีมฟุตบอลหมูป่าและผู้ฝึกสอนเข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำหลวงฯ ว่า การมอบ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงรายเป็นผู้บัญชาการเป็นปฏิบัติการที่ถูกต้อง เพราะภารกิจดังกล่าวมีความยากลำบากมากถึงขนาดนายกรัฐมนตรีลงมาติดตามสถานการณ์เอง ซึ่งกรมอุทยานฯ ทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุน ชุดกู้ภัยและมวลชนสัมพันธุ์ของกรมอุทยานฯอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่แรก และร่วมภารกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ส่วนการที่คนมักไม่รู้นั้นอาจเป็นเพราะเครื่องแต่งกายของชุดกู้ภัยอุทยานฯ คล้ายกับเจ้าหน้าที่ ปภ. ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนชุดแต่งกายให้มีความแตกต่าง เพราะคนแยกไม่ออกกับชุดทำงานของ ปภ.รวมทั้งเปลี่ยนชื่อชุดกู้ภัยฯให้เหมาะสมและติดหูขึ้นด้วย

นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการประสานงานระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรทางธรณี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำ กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการถ้ำ ถ้ำไม่ใช่แค่รูในภูเขา แต่มีธรณีสัณฐานการก่อกำเนิดและมีระบบนิเวศภายในที่เฉพาะตัวทั้งพืชและสัตว์ ในอุทยานฯ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีที่มีความสำคัญ ทุกคนอยู่ในพื้นที่ มีทรัพยากรอยู่ในมือของจึงอยากให้ช่วยกันดูแลและประสานการทำงานร่วมกัน การสำรวจถ้ำในไทย ส่วนเป็นฝรั่งเข้ามาสำรวจ ซึ่งคนไทยเริ่มมีบทบาทในช่วงปี 41-43 ทั้งนี้ในเรื่องการบริหารจัดการเส้นทางในถ้ำมีหินงอกหินย้อย ไม่ควรปล่อยให้นักท่องเที่ยวเดินเหยียบย่ำ เพราะถ้ำเป็นพื้นที่ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวอาจถูกทำลายทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จึงควรมีการจัดระเบียบพื้นที่ในการเข้าออก พื้นที่ใดเข้าได้หรือไม่ได้ หรือเข้าได้เฉพาะเพื่อการศึกษา ถ้ำในเมืองไทยมีไม่ต่ำกว่า 4,000 แห่ง ไกด์นำเที่ยวถ้ำก็ควรมีความรู้ ให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวได้ ต้องกำหนดกติกามารยาทในการใช้พื้นที่ร่วมกัน ในส่วนการให้แสงสว่างหรือติดตั้งไฟในถ้ำก็ต้องระมัดระวังต้องมีระบบไฟที่เหมาะสม เพราะจะกระทบต่อสัตว์ เช่น ค้างคาว ที่อาศัยอยูในถ้ำได้ และการควบคุมนักท่องเที่ยวสำคัญมาก ทั้งนี้สำหรับพื้นที่ถ้ำหลวงฯ เป็นถ้ำที่มีระบบซับซ้อน และยาวกว่า 10 กม. สิ่งแรกต้องทำคือสำรวจถ้ำฯ เพื่อการฟื้นฟูและบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image