ประกันสังคมแนะทางออก ‘ลูกจ้างราชการ’ กว่า 4 แสนพลาดสิทธิ พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่

แฟ้มภาพมติชนออนไลน์

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบวาระ 2 และ 3 ต่อร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่ ที่ให้สิทธิสวัสดิการเกี่ยวกับการจ่ายเงินทดแทนการหยุดงาน ทั้งเจ็บป่วย อุบัติเหตุ รวมทั้งกรณีต่างๆ แก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้น ซึ่งเดิมได้เฉพาะลูกจ้างเอกชน แต่กฎหมายใหม่จะให้สิทธิลูกจ้างส่วนราชการอีกราว 1 ล้านคนทั่วประเทศ ปัญหาคือ กลุ่มองค์กรแรงงานต่างๆ มองว่ายังมีจุดอ่อนตรงลูกจ้างราชการมีการจ้างงานหลายประเภท และการจ้างงานประเภทเหมาทำของหรือเหมาบริการ รวมทั้งจ้างรายวัน จะไม่ได้สิทธิดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ลูกจ้างที่ประสบปัญหารวมตัวเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ช่วยเหลือและให้พวกเขารวมอยู่ในสิทธิของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้ธันวาคมนี้

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สัมภาษณ์มติชนว่า ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่นี้ มีเจตนารมณ์ให้ลูกจ้างทั้งรัฐและเอกชนได้สิทธิสวัสดิการอย่างครอบคลุมที่สุด ซึ่งเดิมจะได้แค่ลูกจ้างเอกชน แต่ครั้งนี้ลูกจ้างราชการก็จะได้รับด้วย รวมแล้วกว่า 10 ล้านคน ซึ่งในส่วนของลูกจ้างราชการมีประมาณ 9 แสนกว่าคน และรวมไปถึงลูกจ้างในองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรต่างๆ รวมแล้วประมาณกว่า 1 ล้านคน ส่วนที่เป็นประเด็นจะไม่ใช่กลุ่มนี้ โดยมีจำนวน 4 แสนกว่าคนนั้น ซึ่ง สปส.เข้าใจและเห็นใจ โดยหากหน่วยราชการไหนมีการจ้างไม่ถูกประเภทเหมือนที่ทางองค์กรแรงงานเปิดเผยนั้น หากแจ้งเข้ามาและมีข้อมูลชัดเจนก็พร้อมเข้าไปตรวจสอบ แต่เท่าที่ทราบมองว่าหน่วยราชการต่างๆ น่าจะมีการปรับอัตรากำลัง และดำเนินการให้ถูกต้องแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าลูกจ้างประเภทไหนก็ต้องจ้างให้ทุกประเภทและต้องไม่มีการเอาเปรียบพวกเขา

“แน่นอนว่าหลายคนต้องการได้สิทธิจาก พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่ เพราะมีการปรับสิทธิเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น กรณีรับเงินทดแทนจากเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุจากเดิมร้อยละ 60 เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างฐานไม่เกิน 20,000 บาท กรณีทุพพลภาพจ่ายทดแทนในอัตราร้อยละ 70 ให้ตลอดชีวิตจากเดิมกำหนดเวลา 15 ปี และกรณีเสียชีวิตตาม พ.ร.บ.ใหม่ก็จะต้องให้เงินทดแทนกับทายาทด้วยเป็นเวลา 10 ปี จากเดิม 8 ปี หรือแม้แต่ค่าทำศพเดิมจ่าย 100 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด เปลี่ยนเป็นสูงขึ้น เช่น หากเดิมได้ประมาณ 3 หมื่นบาท กฎหมายใหม่จะได้เพิ่มถึง 4 หมื่นบาท ซึ่งสิทธิต่างๆ เพิ่มขึ้น และเป็นครั้งแรกขยายไปยังส่วนราชการ” นพ.สุรเดชกล่าว

นพ.สุรเดชกล่าวอีกว่า โดยการขยายสิทธิไปยังส่วนราชการ จะทำให้สำนักงานประกันสังคมต้องเก็บเงินเพิ่มจากส่วนราชการ ซึ่งเฉลี่ยปีละประมาณ 0.2-1 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับความเสี่ยงของลักษณะงาน หรือคิดเป็นเงินที่ต้องเข้ามาในกองทุนเงินทดแทนฯราว 270 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้ตามสิทธิของกฎหมายฉบับใหม่ก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากมีอีกทางเลือกคือ การจ่ายเงินสมทบในส่วนเฉพาะลูกจ้างตามมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคม ซึ่งให้เฉพาะแรงงานอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ซึ่งรวมถึงลูกจ้างราชการประเภทเหมาทำของ และลูกจ้างรายวันที่ต้องการสิทธิประกันสังคมเพิ่มเติม

Advertisement

“ต้องย้ำว่า มาตรา 40 สิทธิก็ไม่ได้น้อย เพราะเรามีทางเลือกในการจ่ายสมทบ 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาทต่อเดือน ก็จะได้รับสวัสดิการ 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้ แบ่งเป็น ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป รับเงินทดแทนรายวัน วันละ 300 บาท ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท โดยรวมกันรับสิทธิไม่เกิน 30 วันต่อปี และกรณีเป็นผู้ป่วยนอก หยุดไม่เกิน 2 วัน (ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง) ได้ครั้งละไม่เกิน 50 บาท กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนขาดรายได้รายเดือน 500-1,000 บาทตามเงื่อนไข เป็นระยะเวลา 15 ปี และกรณีเสียชีวิตก็ได้รับค่าทำศพ โดยผู้จัดการศพได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท โดยหากจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต ได้รับเงินเพิ่ม 3,000 บาท” นพ.สุรเดชกล่าว

เลขาธิการฯกล่าวอีกว่า ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงิน 100 บาทต่อเดือน จะได้รับสวัสดิการ 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้ แบ่งเป็น ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป รับเงินทดแทนรายวัน วันละ 300 บาท ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท โดยรวมกันรับสิทธิไม่เกิน 30 วันต่อปี และกรณีเป็นผู้ป่วยนอก หยุดไม่เกิน 2 วัน (ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง) ได้ครั้งละไม่เกิน 50 บาท กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนขาดรายได้รายเดือน 500-1,000 บาทตามเงื่อนไข เป็นระยะเวลา 15 ปี และกรณีเสียชีวิตก็ได้รับค่าทำศพ โดยผู้จัดการศพได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท โดยหากจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต ได้รับเงินเพิ่ม 3,000 บาท กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล คือ สะสมเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออม) จากเงินสมทบเดือนละ 50 บาท (ได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีและสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ม.40) ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท

นพ.สุรเดชกล่าวอีกว่า ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงิน 300 บาทต่อเดือน จะได้รับสวัสดิการ 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้ แบ่งเป็น ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป รับเงินทดแทนรายวัน วันละ 300 บาท ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท โดยรวมกันรับสิทธิไม่เกิน 90 วันต่อปี และกรณีเป็นผู้ป่วยนอก หยุดไม่เกิน 2 วันกรณีนี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ยังมีกรณีทุพพลภาพได้รับเงินทดแทนขาดรายได้รายเดือน 500-1,000 บาทตามเงื่อนไข เป็นเวลาตลอดชีวิต และกรณีเสียชีวิตก็ได้รับค่าทำศพ โดยผู้จัดการศพได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล คือ สะสมเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออม) จากเงินสมทบเดือนละ 150   บาท (ได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีและสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ม.40) ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินออมเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ที่สำคัญทางเลือกนี้ยังให้โบนัสแก่ผู้ประกันตน โดยหากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท และกรณีสงเคราะห์บุตรแรกเกิดถึง 6 ปี ได้รับเงินรายเดือนคนละ 200 บาท สำหรับบุตร 2 คน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้จะมีทางเลือกให้ แต่กลุ่มแรงงานมองว่า ก็ไม่เป็นธรรม เพราะการจ้างงานลักษณะนี้ก็มีนายจ้างอยู่ดี และเพราะเหตุใดภาครัฐไม่ดูแล ต้องให้มาจ่ายเงินสมทบเอง นพ.สุรเดชกล่าวว่า จริงๆ ในระบบกองทุนประกันสังคมจะจ่ายสมทบทั้งหมด อย่างผู้ประกันตนทั่วไปที่ทำงานมีนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินสมทบ นายจ้างก็จ่าย ภาครัฐช่วย กรณี ม.40 ก็เช่นกัน เพียงแต่นายจ้างไม่ต้องจ่าย แต่แรงงานที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเลือกกรณีไหน จากทั้ง 3 กรณีก็ล้วนเป็นความสมัครใจของแรงงาน ซึ่งย้ำว่ากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มทำงานอิสระ กลุ่มแรงงานนอกระบบ รวมไปถึงลูกจ้างส่วนราชการกลุ่มจ้างรายวัน หรือจ้างเหมาทำของ ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image