ผู้ค้า ‘ถ.ข้าวสาร’ ตั้งแผงบนทางเท้าท้าทาย กทม. ‘สกลธี’ ลั่นฝ่าฝืนจับ-ปรับ แถมตัดสิทธิล็อกใหม่ (คลิป)

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้ากรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดีเดย์จัดระเบียบแผงค้าในถนนข้าวสารและบริเวณโดยรอบ ได้แก่ ถนนจักรพงษ์ ถนนรามบุตรี ถนนถนนตะนาว โดยมีแผนให้ตั้งแผงค้าบนถนนในเวลาที่กำหนดแทนการค้าบนทางเท้า ปรากฎว่าในวันนี้หลังจากเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดเขตพระนคร ได้ร่วมกับผู้ค้าและผู้ประกอบการในพื้นที่จัดกิจกรรมทำความสะอาดครั้งใหญ่ (บิ๊กคลีนนิ่ง) น.ส.ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมผู้ค้าแผงลอยเสรีถนนข้าวสาร ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ซึ่งเป็นใบตอบรับร้องเรื่องราวร้องทุกข์ที่ชมรมฯ ได้ร้องทุกข์ไว้ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ นร 01610006602 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ต่อ นายธีรพันธ์ อธิรัฐธนภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.ร้องขอที่จะกลับไปตั้งแผงลอยค้าขายบนทางเท้าตามปกติ

น.ส.ญาดา กล่าวว่า สำนักนายกรัฐมนตรีรับเรื่องไว้แล้ว พร้อมรับปากว่าจะทำหนังสือเร่งด่วนให้ กทม.ยกเลิกหรือระงับคำสั่งของสำนักงานเขตพระนครที่จัดระเบียบทางเท้าบริเวณถนนข้าวสารภายในวันนี้ ดังนั้น ภายหลังร่วมทำความสะอาดแล้วเสร็จ ผู้ค้าจะดำเนินการตั้งแผงค้าตามปกติเพื่อรอข้อสั่งการระงับประกาศจัดระเบียบผู้ค้าบนถนนข้าวสาร ทั้งนี้ ผู้ค้ายินดีดำเนินการอย่างเป็นระเบียบโดยจะเว้นช่องทางเดิน 1.20 เมตร (ม.) ให้ผู้ใช้ทางเท้าสัญจรได้

ทั้งนี้ นายธีรพันธ์ กล่าวว่า จะเสนอเรื่องให้ผู้บริหาร กทม.พิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม กทม.ยืนยันว่าผู้ค้าจะต้องดำเนินการตามระเบียบ ต้องเว้นทางเท้าเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สัญจร มีความสะดวก และปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ.2535

Advertisement

ขณะที่นายพงศธร ศิริธรรม ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวว่า ระหว่างรอคำสั่งดังกล่าว ผู้ค้าไม่สามารถตั้งแผงค้าบนทางเท้าได้ และว่าขณะนี้ กทม.ได้ประสานกับกองบังคับการตำรวจนครบาล (บช.น.) ออกข้อบัญญัติจราจรปิดถนนเป็นการชั่วคราวระหว่างเวลา 18.00-24.00 น. เพื่อให้ผู้ค้าย้ายแผงค้าจากบนทางเท้าลงไปตั้งบนผิวจราจรได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณา และยืนยันว่าพื้นที่ถนนข้าวสาร ถนนรามบุตรี ไม่ใช่จุดผ่อนผัน

“การค้าบนถนนข้าวสารถือเป็นสีสันและแลนด์มาร์กการท่องเที่ยว การจัดระเบียบบริเวณถนนข้าวสารจึงต่างกับพื้นที่อื่นๆ การจัดระเบียบจะไม่มีการยกเลิกแผงค้า แต่จะให้ย้ายไปขายยังพื้นที่ที่ได้ตกลงร่วมกัน” นายพงศธร กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ น.ส.ญาดา ได้ตะโกนแจ้งต่อผู้ค้าให้ตั้งแผงค้าบนทางเท้าตามปกติ โดยผู้ค้าพยายามตั้งแผง แต่ถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจตรึงกำลังไว้ และเจรจาอย่างสันติวิธี ซึ่งระหว่างนั้นเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายมีปากเสียงกันเล็กน้อย แต่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น

นายอภิชาต แสนมาโนช หัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตพระนคร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เทศกิจพยายามขอความร่วมมือผู้ค้า เพราะไม่อยากใช้อำนาจจับกุม หากผู้ค้าฝ่าฝืนตั้งแผงบนทางเท้า เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องถ่ายรูปผู้ค้าเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และหากเห็นว่าฝ่ายปกครองดำเนินการโดยมิชอบ ผู้ค้าสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองได้ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจเหมาะสมแล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวก็ทราบแล้วว่าวันนี้ กทม.จะจัดระเบียบแผงค้า

ทันทีนายอภิชาตพูดจบผู้ค้าที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวต่างโห่ร้องเสียงดังกึกก้อง พร้อมตะโกนว่า “กทม.ไม่ได้แจ้งนักท่องเที่ยว มีแต่นักท่องเที่ยวถามผู้ค้า ทำไมไม่เปิดร้านขายของ” จากนั้นผู้ค้าประมาณ 20 ราย ก็แยกย้ายไปตั้งแผงค้าตามปกติโดยไม่ฟังคำประกาศร้องขอผ่านเครื่องขยายเสียงของเจ้าหน้าที่ และเริ่มมีปากเสียงระหว่างกันอีกรอบแบบไม่มีทีท่าจะยุติ

กระทั่งเวลา 11.20 น.นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัด กทม.และคณะ ลงพื้นที่ติดตามด้วยตนเอง

นายสกลธี ให้สัมภาษณ์ว่า กทม.เข้าใจว่าบริเวณถนนข้าวสารเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพมหานคร แต่ขอความร่วมมือให้ผู้ค้าลงมาทำการค้าตามแนวถนนในเวลาที่กำหนด ซึ่งได้แจ้งต่อผู้ค้าว่าจะได้กลับมาขายของเหมือนเดิม แต่ทุกคนต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน โดย 1 คนต่อ 1 แผง ไม่ใช่ 1 คน เปิดแผงค้า 8 แผง แล้วไม่พึงพอใจต่อนโยบายจัดระเบียบทางเท้าของ กทม.

“ในเมื่อขอความร่วมมือไปแล้ว แต่ผู้ค้าไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่เทศกิจจะถ่ายรูปผู้ค้าเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเปรียบเทียบปรับผู้ฝ่าฝืนตั้งแผงค้าและผู้ซื้อ สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ผู้ที่ฝ่าฝืนเปิดแผงค้าวันนี้ กทม.จะตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมค้าขายตามล็อกที่ กทม.จัดให้บนผิวจราจร หากยังฝ่าฝืนทุกวัน ก็จะจับปรับทุกวัน” นายสกลธี กล่าวว่า ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ร่วมพูดคุยกับผู้ค้าไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง แต่ผู้ค้าแผงลอยยืนยันจะขายของบนทางเท้าที่เดิม เวลาเดิมทุกวัน แต่ กทม.ยอมไม่ได้ ส่วนการขายของบนผิวจราจรระหว่างเวลา 18.00-24.00 น.วันนี้กำหนดขายเป็นวันแรก และอยู่ระหว่างหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจะขอดูสถานการณ์อีกครั้ง

นายสกลธี กล่าวว่า กทม.จะเปรียบเทียบปรับผู้ค้า โดยไม่เข้าไปรื้อแผงค้าตามหลักอารยชน พร้อมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรึงกำลังโดยรอบพื้นที่

“กทม.พยายามทำให้ถูกต้อง แต่ไม่เข้าใจผู้ค้าไม่พอใจกทม.ตรงไหน เพราะ กทม.ก็รับปากให้ผู้ค้าขายของได้เหมือนเดิม เหตุใดจึงมีสิทธิมายึดทางเท้า ซึ่งเป็นที่สาธารณะของประชาชน หาก กทม.ไม่ทำตามกฎหมาย จะตอบสังคมเช่นไรในเมื่อมีคนที่เอาเปรียบสังคมและไม่ยอมรับกติกาอยู่เช่นนี้ ส่วนเสียงสะท้อนที่ทำให้ผู้ค้าเดือดร้อนกระทบต่อความยากจนนั้น ไม่อยากให้มองเฉพาะผู้ค้าเพียงด้านเดียว อยากให้มองถึงประชาชนผู้ใช้ทางเท้าสัญจรตามสิทธิด้วย” นายสกลธี กล่าวและว่า ภาพรวมที่ผ่านมา กทม.พึงพอใจในการจัดระเบียบทางเท้า ส่วนจุดผ่อนผันที่มีอยู่ หากผู้ค้าดำเนินการตามระเบียบและอยู่ในกติกาก็สามารถร่วมพูดคุยกันได้ กทม.พร้อมอลุ่มอล่วย เพราะไม่ใช่อยากยกเลิกทุกจุด ยกเว้นจุดผ่อนผันที่ยกเลิกไปแล้วยืนยันไม่ให้ผู้ค้ากลับมาขายอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ญาดาพยายามเข้าไปพูดคุยกับนายสกลธีอีกครั้ง แต่นายสกลธีปฎิเสธที่จะสนทนาด้วย ก่อนนำคณะเดินสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ สน.ชนะสงคราม จนสิ้นสุดถนนข้าวสาร ซึ่งระหว่างคณะผู้บริหารเดินสำรวจพื้นที่ติดตามการขุดลอกท่อและทำความสะอาดนั้น กลุ่มผู้ค้าพยายามเดินตาม พร้อมตะโกนขอร้องให้ กทม.ยุติคำสั่งดังกล่าวและยืนยันที่จะต้องแผงค้าเช่นเดิม ขระที่นายสกลธีสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศกิจให้โอกาสผู้ค้าที่ตั้งแผงค้าแล้ว จัดเก็บแผงค้าภายใน เวลา 13.00 น. หากฝ่าฝืนให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปผู้ค้าที่ฝ่าฝืน พร้อมชื่อ-นามสกุลเพื่อไม่ให้ผู้ค้ามีสิทธิในการร่วมตั้งแผงค้าบนถนนข้าวสารอีกต่อไป อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังเพิ่มเติม แต่ผู้ค้าไม่สนใจยังคงตั้งแผงค้าขายบนทางเท้าตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทเสื้อผ้าและเครื่องประดับ และมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเลือกซื้อสินค้าตามปกติ

ทั้งนี้ ล่าสุด นายสกลธีได้เรียกประชุมด่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ศาลาว่าการ กทม.โดยเฉพาะการพิจารณาให้ บช.น.ออกข้อบัญญัติจราจรและแนวทางในการดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image