การแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุม เจอผู้ป่วยทางจิต แจ้ง 1669 ได้ 24 ชม.

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ในงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 17 ประจำปี 2561 กรมสุขภาพจิตได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตโดย นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) โดย ร.อ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสพฉ. เรื่องการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาเครือข่ายงานป้องกันและการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิต ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สุขภาพจิต พ.ศ.2551

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิต ถือเป็นภาวะวิกฤติอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจที่แสดงออกมาทางอารมณ์และพฤติกรรมที่รุนแรงและเป็นอันตรายทั้งต่อตนเอง ทรัพย์สิน และสังคมรอบข้าง จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการวิกฤตทางกาย โดยในปี 2560 มีผู้ป่วยทางจิตในระยะฉุกเฉินได้รับการนำส่งรักษา 16,697 ครั้งเพิ่มจากปี 2551ที่มี 11,266 ครั้ง

“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะดำเนินการจัดการช่วยเหลือ นำผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตในระยะฉุกเฉิน รักษาในสถานพยาบาลจนพ้นภาวะฉุกเฉินอย่างมีมาตรฐานหรือได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และสามารถใช้หลักประกันสุขภาพได้ทุกสิทธิการรักษาได้เช่นกัน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยที่มีมาตรฐาน ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยวิกฤติทางกายและใจ นำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ญาติหรือผู้ดูแล รวมทั้งคนในชุมชนและสังคมด้วย จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้อาการและพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มี 6 ลักษณะได้แก่ 1 หูแว่ว 2. เห็นภาพหลอน 3. หวาดระแวงไร้เหตุผล 4 ก้าวร้าว อาละวาด 5. หลงผิดคิดว่าตัวเองมีความสามารถเหนือคนอื่น และ 6.แต่งกายแปลกกว่าคนปกติและมีพฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือคนอื่น ได้แก่พยายามจะฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น หากประชาชนพบเห็นผู้ที่มีอาการที่กล่าวมาอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้ตลอด24 ชั่วโมง เพื่อนำตัวเข้ารักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน”น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image