25องค์กรสังคม ร่อนจม.เรียกร้องรัฐทบทวนนโยบายจัดสวัสดิการสังคม หลังโกงเงินคนจนฉาวทั่วปท.

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรสตรี เด็ก และภาคประชาสังคม ได้ส่งจัดหมดเปิดผลึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยระบุว่า

ตามที่มีการเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คนไร้ที่พึ่ง เริ่มจากจังหวัดขอนแก่นโดยนักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ อดีตลูกจ้างของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เปิดเผยการจัดทำเอกสารใบรับเงินด้วยการกรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อและรับเงินแทนผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอดส์ รวมกว่า 2,000 ชุด เป็นมูลค่ากว่า 6.9 ล้านบาท จนทำให้มีการขยายผลไปสู่การตรวจสอบศูนย์คุ้มครองฯ ทั่วประเทศ โดยล่าสุดตรวจสอบแล้วเสร็จทั้งหมด 76 จังหวัด พบการทุจริตกว่า 67 จังหวัด นอกจากนี้ ยังพบการทุจริตในนิคมสร้างตัวเอง และนิคมชาวเขา หรือศูนย์ประสานงานหมู่บ้านสหกรณ์และการจ่ายเงินสงเคราะห์ชาวเขา เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนรวมถึงองค์กรทื่ทำงานด้านเด็กและผู้หญิง เห็นร่วมกันว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนถึงความล้มเหลวในการดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเห็นว่าทางกระทรวงฯควรใช้สถานการณ์นี้ในการทบทวนนโยบายและรูปแบบการดำเนินงานการจัดสวัสดิการแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยส่งเสริมบทบาทสร้างการมีส่วนร่วมและจัดสรรทรัพยากรให้กับองค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มผู้ประสบปัญหา รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างกลไกการทำงานโดยเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อสามารถพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งการทอดทิ้งเด็ก การล่อลวง การขาดโอกาส รวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ทั้งในครอบครัวและในชุมชน

ด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกระทรวงที่มีการออกแบบมาให้เป็นผู้พัฒนาระบบสังคมสงเคราะห์ สนับสนุนช่วยเหลือหน่วยงานรัฐและสังคม รวมถึงการส่งเสริมบทบาทการทำงานของอาสาสมัครในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 250 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินงานสังคมสงเคราะห์หรือจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนในเขตอำนาจ แต่ที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ ยังไม่มีมาตรการทางการบริหารเพื่อปฏิบัติภารกิจตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการแบ่งส่วนราชการของกระทรวงฯ ส่วนใหญ่มีการแบ่งกรมตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การดำเนินงานจึงเป็นการแยกส่วนและขาดการสร้างความร่วมมือระหว่างกรม อีกทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะรวมทั้งไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างความก้าวหน้าทางอาชีพ (Professional Career Path) ในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งเป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ จึงทำให้เกิดช่องว่างในการดำเนินงาน ในแต่ละส่วนราชการ ยังขาดการทำงานที่สามารถให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีเพียงสถานสงเคราะห์และการจ่ายเงินสงเคราะห์ อาจมีเพียงทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเท่านั้นที่มีงานบริการทางสังคม

กรมกิจการเด็กและเยาวชน ไม่มีงานสร้างเครือข่ายกับชุมชน โรงเรียนหรือสถานศึกษาในการคุ้มครองเด็กเพื่อปฏิบัติภารกิจตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมบัญญัติไว้ เนื่องจากขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเชิงวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และจัดสวัสดิการสังคม ทำให้ไม่สามารถจัดบริการที่เหมาะสม ขาดหลักการในการทำงานร่วมกันจนไม่สามารถทำงานได้อย่างสอดประสานข้ามกรมฯ ในแต่ละพื้นที่ ทำให้ใช้งบประมาณซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่า งานสะดุด กลุ่มเป้าหมายสูญเสียโอกาส เช่น กรณีเด็กถูกทารุณกรรม หากไม่ปรากฏเป็นข่าว ก็ไม่มีโอกาสที่เด็กจะได้รับการช่วยเหลือคุ้มครอง ทั้งนี้เพราะกรมกิจการเด็กและเยาวชน ไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตราจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองเด็ก แม้ว่าจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวช่วยดำเนินงาน แต่เมื่องานหลักคือการดูแลเด็กที่อยู่ในสถานคุ้มครองฯ จึงไม่สามารถให้ความสำคัญและจัดสรรเวลาและทรัพยากรในการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองเด็กได้อย่างเหมาะสม

Advertisement

อัตรากำลังของบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัดพบว่า มีข้าราชการประจำเพียงคนเดียว ที่เหลือเป็นแต่เพียงพนักงานราชการที่ไม่มีความมั่นคงในด้านอาชีพการงาน พนักงานเหล่านี้จึงอาจจะดิ้นรนไปหางานใหม่ทำ อัตราการเข้าออกของพนักงานฯ จึงสูง ทำให้ไม่สามารถพัฒนาทักษะวิชาชีพหรือความเชี่ยวชาญ มีเพียงนักสังคมสงเคราะห์ส่วนหนึ่งที่คอยการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งไปสู่ตำแหน่งบริหาร นอกจากนั้นการแยกสถานสงเคราะห์สำหรับเด็กพิการจากกรมกิจการเด็กและเยาวชนไปอยู่กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้ไม่มีการบูรณาการนโยบายและแนวปฏิบัติที่เอื้อให้เด็กพิการได้มีโอกาสเติบโตในครอบครัวอุปถัมภ์หรือครอบครัวบุญธรรม

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นกลไกระดับชาติในการทำงานเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศยังไม่สามารถบูรณาการมิติความเสมอภาคระหว่างเพศในนโยบายและแผนงานของกรมได้อย่างเป็นเอกภาพและยังไม่สามารถนำไปสู่การประสานแผนงานกับกระทรวงต่างๆได้ การดำเนินงานไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการนำหลักการและแนวคิดหลักของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW) ไปบูรณาการแผนงานทั้งหมดของกรมฯ และในการจัดทำกฎหมายเพื่อให้ตอบสนองและบรรลุตามพันธกรณี รวมถึง คำมั่นที่ประเทศไทยให้ไว้ต่อประชาคมโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ๕ (Sustainable Development Goal 5- SDG 5) เรื่อง ความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน นอกจากนี้ทรัพยากรทั้งกำลังคนและงบประมาณแต่ละปี ต้องสูญไปกับการจัดงานประชุมทั้งกับเครือข่ายและจัดสัมมนารายประเด็น โดยที่กรมฯ ไม่ได้ตระหนักถึงภารกิจที่จะบูรณาการให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

เครือข่ายองค์กรตามท้ายจดหมายนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อการทำงานของกระทรวงฯ เพื่อพิจารณาดังต่อไปนี้

Advertisement

1. ปรับปรุงระบบการให้เงินสงเคราะห์ของศูนย์คนไร้ที่พึ่งแบบรายละ ๒,๐๐๐ บาทแบบเดิมที่ระบุเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือรายหัวซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริต กระทรวงจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อให้มีการปฏิรูปการให้บริการทางสังคมด้านการพัฒนาและสงเคราะห์โดยมีนโยบายหลักในการฟื้นฟูสภาพครอบครัวที่มีวิกฤติให้สามารถพึ่งตนเอง รวมถึงสามารถดูแลเด็กได้ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการเข้าสู่สถานสงเคราะห์ หรือแทนการให้อยู่ในสถานสงเคราะห์ในระยะยาว พัฒนาการทำงานจัดบริการสังคมสงเคราะห์โดยกำหนดมาตรการทางสังคมและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การจัดสวัสดิการทุกระดับ ทั้งครอบครัว ชุมชน ส่วนท้องถิ่นและระดับชาติ โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมความริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการดูแลกันในระดับท้องถิ่น รวมทั้งการจัดระบบสวัสดิการชุมชนซึ่งรวมถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

2. ปรับโครงสร้างกลไกการทำงานของกระทรวงฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงาน โดยสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในกระทรวง และองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงปฏิรูประบบการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในกระทรวง เพื่อให้มีการพัฒนาตามสายงาน ซึ่งในต่างประเทศนักสังคมสงเคราะห์ จะได้รับการพัฒนาตาม Professional career path เหมือนแพทย์หรือผู้พิพากษา โดยที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการทางสังคม จะต้องรับบุคลากรด้านสังคมสงเคราะห์เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางหลักในการประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เป็นไปตาม นิยามศัพท์ ”สวัสดิการสังคม” ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการ พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งบัญญัติความหมายไว้ว่า “ระบบการจัดบริการทางสังคมซึ่งเกี่ยวกับการ ป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความ จําเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมเป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงาน และการมี รายได้นันทนาการ กระบวนการยุติธรรมและบริการทางสังคมทั่วไป โดยคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับและการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ”

3. บูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบระหว่างรัฐกับองค์กรพัฒนาเอกชน โดยสนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสวัสดิการสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้ประสบปัญหา โดยพิจารณารูปแบบเช่น นโยบาย ๓๐ บาทของกระทรวงสาธารณสุขที่โรงพยาบาลเอกชนให้บริการประชาชนร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐ โดยรัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงพยาบาลเอกชน หรือกระทรวงศึกษาธิการก็มีงบประมาณสนับสนุนให้แก่โรงเรียนเอกชนดำเนินการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก

4. บูรณาการงานรณรงค์ในการสร้างความตระหนักในปัญหาสังคม การป้องกันแก้ไขการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และการรณรงค์เพื่อเผยแพร่ ข่าวสารข้อมูลต่างๆที่จะทำให้สังคมมีความมั่นคงและส่งเสริมการพัฒนาสมาชิกของสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ กรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เปลี่ยนจากการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อจัดเวที สมัชชา ฯลฯ ในแต่ละปี โดยให้ประสานและสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับประเด็นปัญหาให้สามารถทำงานเชิงรุกในการป้องกันปัญหาสังคมและดำเนินมาตรการทางการศึกษา เพื่อเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่างๆที่จะทำให้สังคมมีความมั่นคงและส่งเสริมการพัฒนาสมาชิกของสังคม

ขอแสดงความนับถือ
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
กลุ่มหญิงสู้ชีวิต
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ
เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
เครือข่ายวิจัยและรณรงค์เพื่อสตรี
เครือข่ายสตรีพิการ
มูลนิธิดวงประทีป
มูลนิธิผู้หญิง
มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานนอกระบบ
มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม
มูลนิธิเอมพาวเวอร์
สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
สมาคมผู้นำสตรีท้องถิ่น สกลนคร
สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้
สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
สหภาพแรงงานการสื่อสารแห่งประเทศไทย
สหทัยมูลนิธิ
นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์
ปิ่นหทัย หนูนวล อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.
วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image