ทำใจเลย! ‘เบบินคา’ มาแล้ว ฝนตกทั่วประเทศ ‘เหนือ-อีสาน-ตะวันออก’ ตกหนักมากถึง 21 ส.ค.

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ระบุว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล

สรุปพื้นที่วิกฤตนั้น เขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนน้ำอูนมีระดับน้ำเต็มความจุเก็บกักแล้ว และคาดการณ์ว่าจะยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นทำให้ยังคงมีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกได้

วาฟระบุว่า ขณะนี้พายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) ได้กลับมาเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเข้าปกคลุมเกาะไหหลำแล้ว โดยจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนแล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นบริเวณประเทศลาวตอนบน จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศพม่าตอนบนแล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำต่อไป ทำให้กลุ่มเมฆฝนหนาแน่นด้านหน้าพายุกำลังเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งยังคงมีกลุ่มเมฆฝนในด้านตะวันตกของภาคกลางและด้านตะวันตกของภาคเหนือ

สำหรับปริมาณน้ำฝนสะสม ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ยังคงมีฝนตกปานกลางถึงตกหนักในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยมีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานคร 76 มิลลิเมตร สระแก้ว 65 มิลลิเมตร เชียงใหม่ 53 มิลลิเมตร ชัยภูมิ 50 มิลลิเมตร และแม่ฮ่องสอน 47 มิลลิเมตร

Advertisement

วาฟระบุว่า เขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าค่าเฉลี่ย และอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 103 เป็นน้ำใช้การได้จริง 663 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำมีน้ำเกินความจุเก็บกัก  เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 19.58 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 13.63 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 88 เป็นน้ำใช้การได้จริง 4,747 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 132.05 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 41.52 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 1,101 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 103 เป็นน้ำใช้การได้จริง 489 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำมีน้ำเกินความจุเก็บกัก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 4.47 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 5.33 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 88 เป็นน้ำใช้การได้จริง 5,304 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 38.67 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 18.42 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 2,176 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 84 เป็นน้ำใช้การได้จริง 123 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 9.84 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 3.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 35 ล้าน ลบ.ม.

Advertisement

เขื่อนปราณบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 77 เป็นน้ำใช้การได้จริง 282 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 9.41 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 10.26 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 91 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนรัชประภา มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 87 เป็นน้ำใช้การได้จริง 3,533 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เมื่อวานนี้มีน้ำไหลลงอ่างฯ 15.41 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำ 19.97 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำได้อีก 755 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำฝนนั้น วาฟระบุว่า ช่วงวันที่ 16-18 สิงหาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยและทะเลอันดามันยังคงมีกำลังแรง ประกอบกับพายุเบบินคาได้กลับมาเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเข้าปกคลุมเกาะไหหลำแล้ว โดยจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนแล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นบริเวณประเทศลาวตอนบน จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศพม่าตอนบนแล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำต่อไป ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนกับด้านตะวันออกของภาค รวมทั้งแนวปะทะของลมมรสุมในด้านตะวันตกของประเทศ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ช่วงวันที่ 19-23 สิงหาคม หย่อมความกดอากาศต่ำจากพายุเบบินคาจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศพม่าแล้วอ่อนกำลังลง ส่งผลให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงมีกำลังแรงต่อเนื่อง

ส่งผลให้แนวปะทะของลมมรสุมในด้านตะวันตกของประเทศ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง จากนั้นฝนจะลดลงในช่วงวันที่ 21 สิงหาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image