จิสด้า ใช้ “ปัญญาประดิษฐ์” จัดการพื้นที่ พร้อมดึงทุกภาคส่วนเรียนรู้ด้วยกัน

วันที่ 20 สิงหาคม คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า จัดสัมมนาการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์(Geo-Intelligence) ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของกระบวนการผลักดันพัฒนาประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และหนึ่งในเครื่องมือที่จะมุ่งสู่การปฏิบัติได้จริงและสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือ Actionable Intelligence Policy Platform หรือ AIP ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า เมื่อก่อน เข้าใจกันว่า การมีภาพถ่ายจากดาวเทียมสามารถเอาไปทำอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ดูเรื่องป่าไม้ น้ำท่วม พื้นที่การเกษตร แต่นั่นเป็นวิธีการแบบยุคแรกที่เน้นการตอบโจทย์ในแต่ละเรื่อง แต่ ต้องยอมรับว่าปัญหาเชิงพื้นที่ของประเทศจริงๆ แล้วคือมีทุกเรื่องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ที่ผ่านมาวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละภาคส่วนจะมีนโยบายเป็นของตนเองซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกันตามมา ภาคประชาชนอาจมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียง หรือให้ความคิดเห็น จำเป็นต้องจำยอมรับสภาพไป หลายครั้งที่ต้องลงไปเก็บ ไปตรวจวัด ไปทำสำมะโนประชากร สำรวจสถิติ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านรีโมทเซ็นซิ่งดีขึ้นเยอะ หลายๆเรื่องเราสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการประเมินได้ โดยอาศัยการคำนวณตามแบบจำลองต่างๆ แม้ว่าตัวเลขที่ได้มาอาจจะไม่ถึง 100% แต่ ก็ใช้ข้อมูลภาคพื้นดินที่ได้มาจากการสำรวจมาทำการตรวจสอบ ยืนยัน และแก้ไขร่วมกันได้

ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวต่อไปว่า โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือธีออส 2 ที่กำลังจะดำเนินการ เราจะมีข้อมูลที่ได้จากรีโมทเซ็นซิ่งมากกว่าในอดีตเยอะ ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพแต่จะได้ทั้งการประเมินในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาการขยายตัวของเมืองและชุมชน การบริหารจัดการน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และอีกหลายอย่างที่สามารถประเมินหรือประมาณหรือคาดการณ์ได้จากข้อมูลหลายๆ ส่วนมาประกอบกัน ดังนั้น การที่เรามีข้อมูลต่างๆ ที่หลากหลายจะทำให้เราสามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะในองค์รวมได้

Advertisement

“ดังนั้น ภายใต้โครงการธีออส 2 จะต้องมีการพัฒนาระบบนี้ให้กับเราอย่างแน่นอน โดยใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนั้น AIP จึงมีส่วนประกอบหลักๆ อยู่ด้วยกัน 4 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนนโยบาย ในพื้นที่หนึ่งอาจจะมีนโยบายด้านแหล่งน้ำ นโยบายด้านการเกษตร นโยบายด้านสังคม เราต้องเอาทุกนโยบายเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อเชื่อมโยงให้ได้ว่านโยบายไหนอยากทำอะไร เช่น อยากทำถนน อยากสร้างพื้นที่อนุรักษ์ อยากทำพื้นที่สุขภาพและความปลอดภัย เป็นต้น ส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนของกิจกรรมโครงการที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเกิดจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นไปตามนโยบายหรือไม่เป็น ดังนั้น ใครจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เราจะรู้ทั้งหมด เพราะจุดเริ่มต้นของ AIP คือเราต้องมีข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่มีความสำคัญและใครๆก็พูดถึงกันมาก นั่นก็คือความยั่งยืน ส่วนสุดท้ายคือ ภาคประชาชน คนที่อยู่ในพื้นที่นโยบายดี มีกิจกรรมโครงการดี มีตัวชี้วัดความยั่งยืนดีหมดเลย แต่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือเปล่า มีความพึงพอใจหรือไม่ คนไหนมีปัญหาหรือมีประเด็น ก็จะแสดงออกผ่านสื่อบ้าง ประท้วงบ้าง”นายอานนท์ กล่าว และว่า สุดท้ายแล้ว ระบบก็จะนำเอาองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วนที่ได้มารวบรวม และวิเคราะห์ ดูว่าสรุปแล้วปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องมีการทบทวนนโยบายหรือไม่ กิจกรรมโครงการอันไหนที่ควรทำ หรือยุบเลิก หรือต้องมีเพิ่ม หรือถ้าทำแบบนี้ แล้วจะได้อะไร ควรต้องมีอะไรมาช่วยสนับสนุนหรือช่วยเสริม ซึ่งเป็นรูปแบบของการประมวลผลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจให้กับหน่วยงานในระดับนโยบาย ก่อนจะถูกส่งต่อมายังหน่วยปฏิบัติเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image