ห่วงเด็ก ‘จมน้ำ’ หลังช่วงน้ำท่วมพบปัญหาพลัดตกลื่นเสียชีวิต!

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายจังหวัดเกิดน้ำท่วมและมีน้ำไหลหลาก ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิต สำหรับภัยสุขภาพที่สำคัญที่ต้องระมัดระวังในช่วงน้ำท่วมคือการจมน้ำ โดยเฉพาะปัญหาเด็กจมน้ำ จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่าสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม – 18 สิงหาคม 2561 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 1 ราย อายุ 14 ปี  สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตกลื่น

หากประชาชนอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหรือจะเดินทางไปในบริเวณที่มีน้ำท่วม ควรยึดหลัก “3 ห้าม 2 ให้” เพื่อป้องกันการจมน้ำ ดังนี้ 3 ห้าม คือ 1) ห้ามหาปลา/เก็บผัก ในช่วงน้ำไหลหลาก 2) ห้ามดื่มสุราแล้วลงเล่นน้ำ และ 3) ห้ามเด็กเล็กลงเล่นน้ำ เพราะน้ำอาจไหลแรงทำให้เด็กพลัดตกหรือถูกน้ำพัดได้ ส่วน 2 ให้ คือ 1) ให้สวมเสื้อชูชีพ (หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอน/ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา) และ 2) ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน ส่วนในช่วงน้ำเริ่มลดนี้ ผู้ปกครองอย่าได้ชะล่าใจ ปล่อยให้เด็กๆ เล่นน้ำบริเวณรอบๆ บ้าน เพราะคิดว่าบริเวณดังกล่าวยังมีสภาพเหมือนเดิมและน้ำคงไม่ลึกมาก แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมและมีน้ำไหลแรงในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดการกัดเซาะพื้นดินและเกิดเป็นจุดน้ำลึกใหม่ เสี่ยงที่เด็กจะจมน้ำได้

สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไม่ควรขับรถฝ่าน้ำท่วมสูงหรือกระแสน้ำไหลเชี่ยว ส่วนกรณีที่ตกน้ำหรือพลัดตกจากเรือ ให้ตั้งสติอย่าตกใจ สิ่งแรกที่ควรทำคือ พิจารณาว่าฝั่งที่ใกล้ที่สุดอยู่ด้านไหน จากนั้นเคลื่อนที่ไปในน้ำเพื่อเข้าฝั่ง หรือพยายามลอยตัวไว้เพื่อรอการช่วยเหลือ กอดอุปกรณ์ลอยน้ำที่นำติดตัวไปด้วย โบกมือเพื่อขอความช่วยเหลือ ส่วนผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นไม่ควรลงไปช่วยผู้ที่ตกน้ำ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือคนอื่นที่ช่วยได้ หรือโยนอุปกรณ์อื่นที่ลอยน้ำได้ให้ผู้ที่ตกน้ำ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ช่วยเหลือคนจมน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าแล้วกระโดดหรือวิ่งไปมาเพื่อให้น้ำออก เนื่องจากน้ำที่ออกมาจะเป็นน้ำจากกระเพาะไม่ใช่จากปอด ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะทำให้คนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้นและเสียชีวิตได้ วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อันดับแรกคือให้ขอความช่วยเหลือและวางคนที่จมน้ำนอนราบ ถ้าไม่หายใจ ช่วยหายใจให้เร็วที่สุดโดยวิธีการผายปอด โดยการเป่าลมเข้าทางปาก 2 ครั้ง ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้นวดหัวใจ โดยการกดที่บริเวณกลางหน้าอก ลึกประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก จำนวนอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โดยเร็วที่สุด

Advertisement

คำแนะนำสำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วม มีดังนี้ 1.ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยจากส่วนราชการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด 2.จัดเตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค เป็นต้น รวมถึงเอกสารสำคัญ เช่นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เก็บไว้ในถุงพลาสติกหรือซองกันน้ำ และ 3.เตรียมวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น เสื้อชูชีพ แกลลอนพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ลูกมะพร้าว สำหรับใช้ยึดเกาะพยุงตัวขณะลุยน้ำท่วม สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image