นักวิชาการ-กก.ปฎิรูปสธ.ไม่ส่งชื่อเข้าอนุกก.สารเคมีชุด ‘สุวพันธุ์’ ตั้ง มองซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ในฐานะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่นายกฯ แต่งตั้งขึ้น กล่าวว่า ทางสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ได้ติดต่อมายังตน เพื่อขอรายชื่อผู้แทนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสถาบันอื่นๆ ในการเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาว่าจะอนุญาตให้ใช้หรือไม่ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต  หรือไม่ อย่างไร  ซึ่งเป็นชุดที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยตนได้ตอบกลับไปว่าไม่ส่ง เพราะจากการหารือร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันอื่น ทั้งนักวิชาการจากจุฬาภรณ์ มหิดล และม.นเรศวร เห็นตรงกันว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเพราะมีการแสดงจุดยืนตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุกรรมการ โดยจะเป็นการตั้งคณะอนุกรรมการซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย และคณะอื่นๆ ซึ่งเป็นการยืดเยื้อ

“มีการติดต่อไปยังผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้รายงานเรื่องนี้ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ก็เห็นด้วยในการคัดค้านการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ โดยในเรื่องนี้จะได้มีการรวบรวมรายชื่อจากเกษตรกรผู้เสียหาย นักวิชาการสาธารณสุข กรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข เพื่อเสนอเรื่องการคัดค้านในเรื่องนี้ไปยัง นายกฯ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำโดยเร็ว เพราะคาดว่าในวันจันทร์ 27 สิงหาคม จะมีการประกาศรายชื่ออนุกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้เราสู้มาตลอด การที่จะบอกว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นคู่กรณีกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องที่จะเอากระทรวงสาธารณสุขมาต่อสู้กับทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะขณะนี้เรากำลังทบทวนเรื่องสุขภาพ ไม่ได้ทบทวนเรื่องเศรษฐกิจ ว่าจะขายได้มากหรือน้อย ดังนั้น ตามหลักสากลที่ทำกัน คือ ต้องให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพราะมีหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนโดยตรง “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image