อย.ประชาพิจารณ์หาข้อสรุป ร่างพ.ร.บ.ยา หลังเสียแตก เภสัชฯหวั่นไร้ควบคุมจ่ายยาได้ทุกวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ภก. จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย  กล่าวถึงกรณีสภาการพยาบาลออกประกาศสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ว่า มีหลักสูตรการเรียนการสอนสามารถจ่ายยาได้ ว่า   ปัจจุบันพยาบาลก็สามารถจ่ายยาได้ แต่ต้องเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีความปลอดภัยสูง แต่กรณีที่สภาการพยาบาลประกาศเช่นนี้ เพราะมองว่าเมื่อเรียนมาก็สามารถจ่ายยา 18 กลุ่ม 129 รายการ แต่รู้หรือไม่ว่าได้รวมยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาฉีด การให้อาหารทางหลอดเลือด ฯลฯ ซึ่งจริงๆสิ่งเหล่านี้ต้องมีวิชาชีพเฉพาะ ถามว่าเหมาะสมหรือไม่

“การที่องค์กรวิชาชีพเภสัชฯออกมาคัดค้านร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)    ไม่ใช่ว่าหวงวิชาชีพตัวเอง แต่ที่ออกมาค้าน เพราะกังวลในเรื่องการควบคุมการจ่ายยา ขายยา โดยเฉพาะในมาตรา 22 (5) ของร่างพ.ร.บ.ยาฯ พบว่าเปิดช่องให้ทุกวิชาชีพจ่ายยาได้ แต่จะควบคุมให้ไปออกกฎกระทรวง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นถามว่า ใครจะกล้าเสี่ยง เนื่องจากข้อกังวลคือ กรณีการจ่ายยาในคลินิกเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีกระจายทั่วประเทศ และหากให้ใครหรือวิชาชีพไหนจ่ายยาได้ ประชาชนจะแบกรับความเสี่ยงหรือไม่ ” ภก.จิระ กล่าว

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า  ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ อย. จะมีการประชาพิจารณ์อีกครั้งในทุกภาคส่วนสามารถมาร่วมเสนอความคิดเห็นได้ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เวลา 10.00 น.ไปจนถึง 12.00 น. โดยหลังจากนั้นจะรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ เสนอต่อนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อพิจารณาก่อนเสนอครม. และเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม ส่วนประเด็นที่อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะมองว่าจะเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้นั้น จริงๆ ไม่ได้เป็นการเปิดช่อง แต่เป็นการปิดช่องที่กฎหมายเดิมไม่สามารถควบคุมการจ่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตของบางวิชาชีพมากกว่า

นพ.สุรโชค กล่าวว่า  ในร่างพ.ร.บ.ฯ นี้ยังมีสาระสำคัญ คือ การต่อทะเบียนยา โดยของเดิมไม่มีการต่อทะเบียนยา ทำให้บริษัทยาที่ผลิตยาออกมาก็ใช้ได้เรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมา อย.มีการตรวจสอบและต้องถอนทะเบียนยา เนื่องจากหลายตัวก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่ในร่างพ.ร.บ.นี้ จะมีการกำหนดให้บริษัทยาที่มาขึ้นทะเบียนยา ต้องมีการต่อทะเบียนทุกๆ 7 ปี ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 5 ปี แต่มีการพิจารณาและได้ข้อสรุปที่ 7 ปี ซึ่งตรงนี้จะทำให้ยามีคุณภาพและข้อมูลมีความทันสมัยมากขึ้น

Advertisement

 

 

 

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image