อย.เดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.ยาฯ ผ่านเห็นชอบ 90% ที่เห็นต่างไว้ตั้งกก.ถกแยก(คลิป)

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยกร่างเพื่อนำมาแทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่ยังเกิดข้อกังวล โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดเพิ่มวิชาชีพที่สามารถปรุงและจ่ายยาได้ ซึ่งทางองค์กรวิชาชีพเภสัชกรออกมาคัดค้าน เพราะมีบางข้ออาจเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาและขายยาได้ในอนาคต โดยเฉพาะในคลินิกเอกชนหวั่นไม่มีการควบคุมนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ห้องประชุมชั้น 9 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้จัดการประชุมประชาพิจารณ์โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนกว่า 300 คน เพื่อสร้างความเข้าใจกับประเด็นร่าง พ.ร.บ.ยาฯ แต่ไม่ได้ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง

ต่อมาเวลา 11.30 น.  ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวกรณีดังกล่าว ว่า  ในวันนี้ (27 ส.ค.) ได้จัดประชุมชี้แจงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. …. ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ สภาวิชาชีพ ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรมยา สมาคมและชมรมยาและตัวแทนภาคประชาชน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ภายหลังเกิดประเด็นข้อสงสัยเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์และเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้ว เพียงแต่ยังมีบางข้อก็นำกลับมารวบรวมข้อเสนออีกครั้ง

นพ.วันชัยกล่าวว่า จากการหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันให้ยกร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. …. ฉบับใหม่ ทดแทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ราว 4-5 ครั้ง แต่ติดขัดข้อกฎหมายในบางประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ ทำให้การยกร่าง พ.ร.บ.ไม่สำเร็จ ต่อมาเมื่อปี 2560 คำสั่ง คสช.ที่ 77/2559 ออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญบางประการของฉบับ พ.ศ.2510 อาทิ กำหนดให้ อย.เพิ่มประสิทธิภาพเก็บค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ การอนุญาตเพิ่มอัตราค่าตอบแทนของคณะกรรมการภายนอก การอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกพิจารณาอนุมัติทะเบียนยา จึงนำมาสู่การยกร่าง พ.ร.บ.อีกครั้ง เพราะไม่ได้ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับเดิม โดยมีแนวทางพิจารณาให้ 1.เพิ่มเติมเฉพาะคำสั่ง คสช.และแก้ไขบางส่วน เป็น พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 7 และ 2.ยกร่างใหม่ทั้งหมด ก่อนจัดประชุมรับความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง 7-8 เดือน ตั้งแต่ 10 มกราคม 2561 พร้อมรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็ปไซต์อีกครั้ง เพื่อให้เหมาะสม รัดกุม ก่อนมีมติยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แต่ยังคงมีผู้คัดค้านบางประเด็นเดิมๆ

Advertisement

“ส่วนใหญ่เห็นชอบมาตราทั้งหมดของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ร้อยละ 90 ส่วนอีกร้อยละ 10 ไม่เห็นชอบบางประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นเดิมที่ทำให้การยกร่างไม่สำเร็จตั้งแต่อดีต เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องอยากให้ประเด็นเดิมมีข้อยุติก่อนนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ อย.จึงเสนอหลักการให้เดินหน้าการยกร่าง พ.ร.บ.ไม่ต้องรอให้ได้ข้อยุติ โดยประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันร้อยละ 90 จะถูกเขียนกฎหมายให้ประกาศบังคับใช้ก่อน ส่วนที่ยังไม่ลงตัวให้เขียนในกฎหมายระบุให้มีกระบวนการนำไปสู่การพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอกฎหมายเพิ่มเติมหรือกฎหมายลูกรองรับตามมติคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน ส่วนคณะกรรมการจะประกอบด้วยใครบ้าง ในขั้นตอนกฤษฎีกาจะเป็นผู้กำหนด” นพ.วันชัยกล่าว

นพ.วันชัยกล่าวอีกว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เป็นการยึดหลักของ พ.ร.บ.เดิม ฉบับพ.ศ.2510 โดยยึดหลักสำคัญ คือ การคุ้มครองผู้บริโภค การพิจารณาอนุญาตด้านยาอย่างมีประสิทธิภาพและความมั่นคงด้านยาของประเทศ อย่างไรก็ตาม อย.ได้ประมวลความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและแจงข้อเท็จจริงทุกประการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่บางส่วนที่ยังคัดค้านกลับไม่ได้เข้าร่วมประชุม อย.จึงจัดประชุมชี้แจงเพิ่มเติม ปัจจุบันทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกันแล้ว พร้อมเห็นควรให้ อย.เดินหน้า พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้หลายมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตกไป อาทิ เรื่องการขึ้นทะเบียนยาเดิมแก้ไขให้มีการทบทวนทุกๆ 7 ปี จากเดิมที่เป็นการขึ้นทะเบียนตลอดชีพซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกเป็นแบบนี้

Advertisement

 

นพ.วันชัยกล่าวต่อว่า จึงมองว่าควรมีการเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายที่ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันแล้วเข้าไปก่อน ส่วนความเห็นที่ยังไม่ลงตัวกันก็ให้เปิดช่องเขียนไว้ในกฎหมายว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับแก้ แต่ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ หลังได้ข้อสรุปอาจจะพิจารณาใน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ หรือออกเป็นกฎหมายรองก็ได้ ซึ่งขณะนี้ก็เสนอร่างที่ว่านี้ พร้อมแนบความเห็นทั้งหมดไปให้ ครม.พิจารณา ไม่ว่าจะเห็นด้วย เห็นต่างแนบไปหมด ดังนั้น อยู่ที่ ครม.จะพิจารณาว่าจะเห็นด้วยแล้วส่งต่อชั้นกฤษฎีกา หรืออาจจะส่งกลับมาให้ทาง อย.แก้ไขอีกรอบก็ได้ ทั้งนี้ ถ้าดูตามไทม์ไลน์ของรัฐบาลที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2562 เพื่อมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่ แต่ถ้าอยากให้ทัน สนช.ชุดนี้ก็ต้องเข้ากฤษฎีกาอย่างช้าภายในตุลาคมนี้ แล้วหลังจากนั้นกำหนดเวลาไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกระบวนการ แต่ถ้าไม่ทันก็เป็น สนช.ชุดใหม่  ส่วนตนแม้ว่ากำลังจะเกษียณอายุราชการก็ไม่กังวลเพราะมีเลขาฯอย.คนใหม่มารับช่วงต่อ แต่เสียดายที่กฎหมายยังไม่ได้รับการแก้ไขในช่วงที่ตนเป็นเลขาฯอย.เท่านั้นเอง

“ขอร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับสหวิชาชีพต่างๆ จำกัดวงพูดคุย ไม่ให้พาดพิงวิชาชีพอื่น เพราะการทำงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขจะสำเร็จนั้น ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของแต่ละสหวิชาชีพ โดยทุกวิชาชีพมีบทบาทและหน้าที่ของตนเองในการช่วยกันดูแลประชาชน อีกทั้ง อย.ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง พร้อมยินดีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ยา ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” นพ.วันชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุใด อย.พิจารณาเปิดช่องให้สหวิชาชีพอื่นเข้ามาดำเนินการสั่งยาและจ่ายยา ไม่ใช่แค่เภสัชกรเท่านั้น นพ.วันชัยกล่าวว่า เดิม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กำหนดไว้ 3 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ขณะที่ ปัจจุบันข้อเท็จจริงแบ่งออกเป็น 2 ทาง โดยอาจลดจาก 3 เหลือเพียงวิชาชีพเดียว หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 วิชาชีพ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการที่จะถูกตั้งขึ้นตามที่กำหนดตามกฎหมาย จะให้มีใครเป็นกรรมการบ้าง อาจประกอบด้วยกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง นักกฎหมายและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่ได้กำหนดเวลาการพิจารณาว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image