จิสด้าพัฒนา จีแมส ติดตามเรือ- พิสูจน์คราบน้ำมัน

วันที่ 28 สิงหาคม นางศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ทะเลและชายฝั่งทะเลเป็นทั้งแหล่งทรัพยากร แหล่งอาหาร แหล่งพลังงาน รวมไปถึงเป็นแหล่งกิจการพาณิชยนาวี การประมง การท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สร้างงาน สร้างรายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการใช้และทำลายทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จิสด้า จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับทะเลและชายฝั่งทะเล โดยจิสด้าได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่มีชื่อว่า Geo Spatial for Maritime System หรือ จีแมส (G-MAS) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบ และชี้เป้า โดยเฉพาะคราบน้ำมันและเรือ รวมถึงสถานการณ์ทางทะเลในด้านต่างๆ พร้อมย้ำจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบให้ดียิ่งขึ้นและทันต่อสถานการณ์

 

 

Advertisement

 

นางศิริลักษณ์ กล่าวว่า ปกติแล้วการทำงานในเชิงภูมิสารสนเทศ จะมองกันในเชิงพื้นที่เพื่อดูภาพกว้าง และทำอย่างไรเพื่อให้งานมีความสะดวกและรวดเร็ว ทั้งในส่วนของจิสด้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานร่วมกันกับเรา เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาคประชาชน ชุมชน หรือสมาคมประมงต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จิสด้าจึงได้พัฒนา G-MAS ขึ้น ซึ่งเป็นระบบบริการทางทะเล เพื่อการติดตาม และชี้เป้าคราบน้ำมัน เรือ และมลพิษทางทะเล (Maritime Service) ที่ บูรณาการเทคโนโลยี 3 ส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

Advertisement

“ส่วนแรกจะเป็นเทคโนโลยีจากภาพถ่ายดาวเทียมทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมทางด้านทะเลที่เรานำมาบูรณาการและพัฒนาเป็นระบบนั้น จะมีภาพถ่ายดาวเทียมที่ใช้สำหรับติดตามขนาด ประเภท รวมถึงตำแหน่งเรือ และภาพถ่ายดาวเทียมที่ดูในเรื่องของคุณภาพน้ำทะเล ซึ่งจะมีค่าข้อมูลหลักๆ เช่น ค่าอุณหภูมิน้ำทะเล ความเข้มและสีของน้ำทะเล ปริมาณคลอโรฟิลด์ รวมถึงองค์ประกอบหลักๆ ที่เป็นคุณภาพน้ำ ส่วนที่ 2 จะเป็นข้อมูลที่ได้จากระบบเรดาห์ชายฝั่งที่ติดตั้งอยู่ในอ่าวไทยประมาณ 20 สถานี ใน 13 จังหวัด และในปีหน้าเราจะขยายไปฝั่งอันดามัน ระบบเรดาห์ชายฝั่งเป็นเทคโนโลยีสำรวจระยะไกล แต่เป็นรีโมทเซ็นเซอร์อีกประเภทหนึ่งที่สามารถวัดข้อมูลคลื่น ข้อมูลกระแสน้ำ ข้อมูลความเร็วทิศทางลมที่อยู่ในพื้นทะเล รวมถึงข้อมูลจากกล้อง CCTV ที่ติดตั้งประจำอยู่ในพื้นที่สถานีด้วย สำหรับส่วนที่ 3 จะเป็นการพัฒนาแบบจำลองที่เน้นเฉพาะเรื่องมลพิษทางทะเลและชายฝั่ง เช่น พวกคราบน้ำมันในทะเล หรือขยะทะเล ที่ลอยมา ซึ่งเป็นที่สงสัยกันว่าลอยมาจากที่ไหน จะมีวิธีการเก็บกู้อย่างไร โดยเราจะใช้ข้อมูลจาก 2 ส่วนแรกทั้งข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและระบบเรดาห์ชายฝั่งมาพัฒนาเป็นแบบจำลอง ฉะนั้น สิ่งที่ตามมาคือ “กลุ่มผู้ใช้งานในภาคส่วนต่างๆ จะใช้งานได้นั้น จะต้องมีอะไรบ้าง อย่างแรกก็คือ สามารถเข้ามาดูในระบบได้ว่าวันนี้คลื่นลมคลื่นทะเลเป็นอย่างไร สถานการณ์โดยรอบๆ ชายฝั่งทะเลเป็นอย่างไร หรือจะดูเหตุการณ์จากกล้อง CCTV ร่วมด้วยก็ได้ “นางศิริลักษณ์ กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ กล่าวอีกว่า มีแบบจำลอง ดังนั้น จึงนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาบนแบบจำลอง ซึ่งจะเป็นส่วนที่เสริมเข้าไปบนระบบนี้ด้วย อย่างเช่นเมื่อช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องของแพลงก์ตอนบลูม หรือปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ บริเวณชายหาดบางแสน ทำให้น้ำทะเลมีกลิ่นเหม็นและมีสีคล้ำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกับนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับการประมงเพาะเลี้ยงชายฝั่ง การประกอบกิจการชายฝั่งด้วย ที่นี้หากเราอยากรู้ว่ามวลน้ำที่มีปัญหานั้น จะถูกพัดพาไปในทิศทางไหน และตรงโซนไหนที่จะแจ้งเตือนเพื่อไม่ให้ประชาชนลงเล่นน้ำ ซึ่งทช.ก็สามารถเข้ามาดู เข้ามาใช้ระบบได้ โดยการปักหมุดลงไปภายใต้ระบบเสร็จแล้วระบบก็จะคำนวนให้ว่าทิศทางกระแสน้ำไปทางไหน ก็จะสามารถอนุมานหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า เส้นทางการเคลื่อนที่ของมวลน้ำนั้นจะเป็นไปในทิศทางไหน เป็นต้น

นางศิริลักษณ์ กล่าวว่า หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง และส่งผลกระทบกับหลายๆ ภาคส่วน ทั้งการบริหารจัดการเก็บกู้ การเฝ้าระวังต่างๆ เช่น กรณีคราบน้ำมันรั่วไหล จะต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลเข้ามาค่อนข้างมาก หรือหากมีใครที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์คราบน้ำมันพวกนั้น ซึ่งจำเป็นต้องติดตามตำแหน่งเรือ โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมและระบบตรวจวัดที่เป็นระบบ Automatic Identification System หรือ AIS ซึ่งเป็นข้อบังคับของเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่ต้องแจ้งพิกัดการเดินเรือมาประมวลผลในระบบ G-MAS เพื่อดูว่าตอนที่มีคราบน้ำมันรั่วไหลในทะเลนั้นมีเรือต้องสงสัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุหรือไม่ นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้งานของระบบ G-MAS

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image