มาตรการ ‘ตร.-อย.’ เข้ม ‘ทรามาดอล’ ระวัง ใช้ผิดทาง

ยาแก้แพ้หรือยาแก้ปวดอย่าง โปรโคดิลž และ ทรามาดอลž กลายเป็นปัญหาการใช้ยาที่ผิดวิธี แพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชนระดับมัธยมจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มักนำไปผสมกับเครื่องดื่ม บางครั้งผสมกับยาชนิดอื่น ที่จะมีผลออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้มึนเมาเหมือนการดื่มสุรา กลายเป็นสารเสพติดที่เกาะกินสังคมถูกเมินเฉยมายาวนาน

กระทั่ง มีผู้เสียชีวิตจากยาดังกล่าวที่ผสมเกินขนาด จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ประกาศเตือนถึงอันตรายของตัวยาชนิดนี้ที่เสมือนดาบสองคม

อีกทั้งออกกฎหมายการซื้อขายอย่างเข้มงวด แต่ยังไม่อาจลดทอนปัญหาลงได้ เพราะโปรโคดิลและทรามาดอลเป็นยาราคาถูกหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป บางแห่งฝ่าฝืนขายเกินอัตราที่กำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปราบปรามบุกจับอย่างจริงจังและเด็ดขาด

สดๆ ร้อนๆ เมื่อ 17 สิงหาคมที่่ผ่านมา บิ๊กโจ๊กŽ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. นำกำลังเปิดปฏิบัติการทลายโรงงานผลิตยาทรามาดอล เป็นแหล่งผลิตที่มีเงินทุนหมุนเวียนกว่าหลาย 10 ล้านบาท

Advertisement

พ.ต.ท.ภูริส จินตรานนท์ รอง ผกก.ป.บางรัก ในฐานะรองหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 10 ของ ศปอส.ตร. เปิดเผยว่า การเข้าทลายโรงงานสืบเนื่องมาจากมีผู้ปกครองร้องทุกข์บุตรหลานใช้เสพยาชนิดดังกล่าว ช่วงแรกเกิดอาการมึนงง รูม่านตาปิด หลอดเลือดหดตัว สุดท้ายเกิดอาการกล้ามเนื้อลีบ ต่อมาตำรวจสืบสวนหาแหล่งร้านขายยาและขยายผลกระทั่งบุกทลายโรงงาน

“ยาทรามาดอลจะผลิตมาเป็น 2 ยี่ห้อ คือทินดอลกับแท็บมาดอล แม้ยกเลิกทะเบียนการค้ายาโดย อย.ไปตั้งแต่ปี 2559 ถือเป็นยาปลอม แต่เนื่องจากยังมีความต้องการในหมู่วัยรุ่น ทำให้ลักลอบผลิตยาอยู่ ยาชนิดนี้มีกำไรสูงถึง 300 เปอร์เซ็นต์ เหตุที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นเพราะตรวจไม่พบด้วยวิธีการเป่า ต้องตรวจเลือด คนที่เสพยาเหล่านี้จะมีอาการเคลิบเคลิ้ม ง่วงซึม ต่อมาก็จะเพิ่มปริมาณการเสพมากขึ้น กระทั่งมีอาการแขนขาอ่อนแรงและกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง

“ผู้เสพปริมาณมากต่อเนื่องยาวนาน จะมีรูม่านตาขยาย ระบบหลอดเลือดและหัวใจล้มเหลว อาจเกิดอาการชักกระตุกหยุดหายใจและเสียชีวิต”Ž พ.ต.ท.ภูริส กล่าว และว่า ยังไม่มีการจัดประเภทยาทรามาดอลเป็นสิ่งเสพติด เป็นเพียงวัตถุออกฤทธิ์คล้ายสารเสพติด เนื่องจากมีส่วนผสมของฝิ่น โดยวัยรุ่นเป็นกลุ่มอยากรู้อยากลอง ประกอบกับบางรายอายุต่ำกว่า 17 ปี ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มมึนเมาตามร้านสะดวกซื้อได้ จะไปเสพยาดังกล่าว พบมากในหมู่แก๊งลักรถ

Advertisement

พ.ต.ท.ภูริสกล่าวอีกว่า ได้หารือกับ อย.ถึงมาตรการปราบปราม ปัจจุบันพบเด็กนักเรียนพกยาชนิดนี้กันจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเอาผิดอะไรได้ ได้เพียงว่ากล่าวตักเตือน ขณะนี้ผู้เสพไม่มีความผิด แต่จะมีโทษต่อผู้ค้าฐานจัดจำหน่ายยาปลอมหรือยาอันตราย โทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต อย.ได้ประกาศเตือนยาทรามาดอลเป็นยาบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก ต้องให้เภสัชกรจัดทำเป็นบัญชีซื้อขายอย่างถูกต้อง หากมีการจำหน่ายให้กับผู้ที่ไม่ได้มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ จะมีบทลงโทษต่อเภสัชกร อาจจะถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพจากองค์กรเภสัชกรรม ส่วนร้านขายยาฝ่าฝืนจะมีการเพิกถอนให้ยุติการจำหน่าย 120 วัน

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังยาทรามาดอล พบลักลอบใช้ในทางที่ผิดกฎหมายว่า เป็นยากลุ่มช่วยเรื่องปวดรุนแรง อย่างปวดกระดูก หรือกรณีผู้ป่วยมะเร็ง เป็นยาควบคุมที่ต้องมีเภสัชกร และแพทย์สั่งจ่าย แต่มีการลักลอบใช้ในทางที่ผิด ยังพบการผลิตยาทรามาดอลปลอมด้วย เนื่องจากตัวสารผลิตยาชนิดนี้ค่อนข้างหายาก มีมาตรการคุมเข้มเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเส้นทางการผลิตตั้งแต่สารนำเข้า การผลิตในโรงงาน ที่ต้องผ่านการรับรอง ส่งจำหน่ายโรงพยาบาลไหนและร้านขายยาไหน ขณะเดียวกัน ร้านขายยาและโรงพยาบาลก็ต้องทำบัญชีการจ่ายยาให้สำนักงาน อย.รับทราบ ที่ผ่านมาจึงพบผู้ผลิตยาทรามาดอลปลอม โดยใช้ยาตัวอื่น แต่รูปลักษณ์เดียวกัน มีความผิดฐานยาปลอม 

“ยาตัวนี้ยังมีประสิทธิภาพรักษาตามที่บอก เมื่อมีคนเอาไปใช้ผิด เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท เคยมีคนตั้งคำถามว่า จะยกระดับควบคุมหรือไม่ วันนี้ยาทรามาดอลไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติด ไม่อยากใช้มาตรการเข้มมากเกิน เพราะกังวลจะมีผลต่อการเข้าถึงของผู้ป่วย แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ที่ผ่านมาก็เฝ้าระวังเข้มร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะเดียวกัน อย.ติดตามสถานการณ์ทั่วโลก หลายประเทศกำลังเฝ้าดูว่าจะจัดเป็นกลุ่มยาเสพติดหรือไม่”Ž นพ.สุรโชคกล่าว และว่า ที่ผ่านมาตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับทรามาดอล ข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ตรวจจับดังนี้ 1.ร้านยา 35 ราย (ขายยาปลอม 9 ราย/ไม่ทำบัญชีซื้อขาย 35 ราย) 2.ผลิตยาปลอม 1 ราย และ 3.ไม่มีใบอนุญาตขายยา 1 ราย

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่ผลิตยาปลอมนั้น ข้อมูลจาก อย.ระบุว่า ผู้ที่ผลิตยาปลอมจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กรณีผลิตยาปลอม จำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับ 10,000-50,000 บาท อีกทั้งผิดในกรณีผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ผ่านมา อย.ออกมาตรการเข้มงวดควบคุมการจำหน่ายยาอันตราย ทรามาดอลต่อผู้รับอนุญาตผลิต ผู้รับอนุญาตนำเข้ายา และเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานประกอบการดังกล่าว โดยให้ปฏิบัติ ดังนี้

1.ให้รายงานการจำหน่ายยาทางออนไลน์เข้าสู่ระบบ FDA Reporter ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 ตามคู่มือและแนวทางที่ได้ชี้แจงในการประชุมวันที่ 7 สิงหาคม 2556 2.ให้จำกัดปริมาณการจำหน่ายยาให้แก่ผู้รับอนุญาตขายยาไม่เกิน จำนวน 1,000 เม็ด/แคปซูลต่อแห่งต่อเดือน ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนจำหน่ายจากระบบ FDA Reporter ทุกครั้ง 3.จัดทำและจัดส่งรายงานการขายยาตามแบบที่กำหนดทุก 4 เดือน ให้ถูกต้อง เป็นจริง ตรงเวลาอย่างเคร่งครัด 4.ให้จำหน่ายให้ผู้รับอนุญาตขายยา เฉพาะรายที่มีใบสั่งซื้อยา ลงนามโดยเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ให้เก็บหลักฐานและแนบสำเนา เป็นต้น

อย.ยังออกหนังสือเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการจัดจำหน่ายสำหรับผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันทุกรายปฏิบัติ ดังนี้ 1.ให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำร้านเท่านั้น เป็นผู้ส่งมอบยาให้กับผู้มารับบริการ 2.ห้ามจำหน่ายยาให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ในทุกกรณี 3.ให้จำหน่ายยาเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ ไม่เกิน 20 เม็ด/แคปซูลต่อรายต่อครั้ง 4.ให้ผู้รับอนุญาตและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องร่วมกันจัดทำบัญชีซื้อยาและบัญชีขายยาให้เป็นจริง ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน 5.การสั่งซื้อยาจากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ต้องให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการลงนามเพื่อรับทราบในการซื้อยาเข้าร้านใน “ใบสั่งซื้อยาŽ” เพื่อเป็นหลักฐานในการซื้อยาจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าด้วย

หากไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ จะถูกเสนอให้พิจารณาจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมด้วย ส่วนผู้รับอนุญาตผลิต ผู้รับอนุญาตนำเข้ายา หากไม่ปฏิบัติตาม หรือหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ามีส่วนในความผิดอื่นๆ ก็จะมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นี่คือ ความเข้มข้นของกติกาที่ต้องเข้มงวด จริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image