‘บิ๊กอู๋’ เผย 3 แนวทางนำเข้า ‘แรงงานต่างด้าวประมง’

วันที่ 31 สิงหาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ว่า พล.อ.ประวิตร เห็นว่าปัญหาการทำงานของคนต่างด้าว และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเลเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) จึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการรับทราบและดำเนินการตามมติที่ประชุม และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงนำผลการประชุมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล และให้หน่วยงานด้านความมั่นคงสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล เพื่อให้การปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง ซึ่งปัจจุบันขาดแคลนอยู่ประมาณ 53,649 คน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอใน 3 แนวทาง

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า แนวทางที่ 1 ขยายระยะเวลาการทำงานให้กับแรงงานประมงทะเลที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 11,000 คน ซึ่งระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรจะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน 2561 ออกไปอีก 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยอนุญาตครั้งละ 1 ปี ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม – วันที่ 30 กันยายน 2561 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงาน ณ ศูนย์โอเอสเอส 22 จังหวัดชายทะเล มีหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ คือ (1) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตรวจลงตรา (VISA) ประทับตราอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรครั้งละ 1 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 และต่ออายุได้อีกถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 (2) สำนักงานจัดหางานจังหวัด รับคำขอและพิจารณาอนุญาตทำงาน ครั้งละ 1 ปี ตามที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร โดยออกใบอนุญาตทำงาน (เล่มสีส้ม) ให้กับแรงงานต่างด้าว (3) กรมประมงออกหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ให้กับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน (4) แรงงานต่างด้าวขอรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่

พล.ต.อ.อดุลย์ แถลงอีกว่า แนวทางที่ 2 นำเข้าแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ซึ่งจากการหารือการนำเข้าแรงงานประมงทะเลกับทางการพม่า ปรากฎว่าทางการพม่าตอบรับการส่งแรงงานเข้ามา โดยจะนำเข้ามาทางด้าน จ.ระนอง-เกาะสอง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เตรียมความพร้อมโดยจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนอง ภายในศูนย์จะมีการดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (โอเอสเอส) ประกอบด้วย 1.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ 2.ตม.ตรวจลงตราวีซ่า และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 3.กระทรวงแรงงานออกใบอนุญาตทำงาน 4.กรมการปกครองจัดทำทะเบียนประวัติ คาดว่าทางการพม่าจะส่งแรงงานเข้ามาทำงานประมงทะเลได้อย่างช้าประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 และ แนวทางที่ 3 มาตรการเร่งด่วนชั่วคราว อนุญาตให้แรงงานที่ถือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) เอกสารเดินทาง (Travel Document) ซึ่งเอกสารดังกล่าวยังมีอายุเหลืออยู่ อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานในกิจการประมงทะเล เป็นเวลา 1 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือเป็นใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้ อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของการอนุญาตให้แรงงานทำงานได้ตามมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558

พล.ต.อ.อดุลย์ แถลงว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่ลักลอบทำงานในประเทศไทยราว 50,000 คน กลับออกไปนอกราชอาณาจักร และหากประสงค์จะทำงานให้กลับเข้ามาทำงานตามระบบบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (เอ็มโอยู) และเพิ่มประเภทงานให้ทำได้นอกเหนือจากกรรมกรในกิจการก่อสร้างและประมงทะเล เป็นงานกรรมกรในทุกกิจการเช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว พม่า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image