กรมอุทยานฯชวนกทม.จัดเทศกาลนับเหี้ยสวนลุม ชี้ ต่างชาติอะเมซซิ่ง คนกับเหี้ยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

วันที่ 1 กันยายน น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้รับการประสานงานจากกรุงเทพมหานคร(กทม.)ให้เข้าไปจับตัวเหี้ยในสวนลุมพินี โดยให้เหตุผลว่า เวลานี้ มีประชากรตัวเหี้ยเพิ่มมากขึ้น อาจจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน ที่ไปใช้บริการพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายภายในพื้นที่สวนลุมพินีได้ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทางกทม.ขอความร่วมมือมานัก เพราะก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมา กทม.เคยขอความร่วมมือให้ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าไปจับตัวเหี้ยในสวนลุมมาแล้ว ซึ่งในตอนนั้น ได้รับเสียงวิจารณ์จากประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในสวนลุมพินีจำนวนมากว่า ไปจับตัวเหี้ยทำไม ตัวเหี้ยไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทั้งนี้ประชาชนที่เข้ามาในสวนลุมฯต่างก็คุ้นเคยกับการที่มีตัวเหี้ยอยู่ในสวนลุมฯอยู่แล้ว

“ตัวเลขประชากรเหี้ย ที่กทม.แจ้งเรามาล่าสุดในพื้นที่สวนลุมฯคือ 400 ตัว โดยบอกว่า เจ้าหน้าที่ใช้วิธีเดินนับ ซึ่งเราท้วงติงไปว่า การเดินนับอาจจะได้ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนสูง เพราะเมื่อคนที่นับเดินจากจุดนี้ไปยังอีกจุด ตัวเหี้ยตัวเดิมที่ถูกนับแล้ว อาจจะถูกนับซ้ำอีกก็ได้ ซึ่งนักวิจัยของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เคยไปนับปริมาณเหี้ยในสวนลุมแล้วเช่นกัน นับได้แค่ 160 ตัวเท่านั้นเอง”น.ส.กาญจนา กล่าว

 

Advertisement

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า อีกทั้งจากการสอบถามประชาชนที่เข้าไปใช้บริการพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายในสวนลุม ตลอดทั้งวันเรื่องความรู้สึกที่มีต่อตัวเหี้ย พบว่า มีน้อยมากที่ตั้งข้อรังเกียจ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนรู้สึกมหัศจรรย์ใจ ที่เห็นสัตว์ชนิดนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสวนสาธารณะ ร่วมกับประชาชนอย่างปกติสุข

“ตัวเหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเพียงชนิดเดียวที่สามารถอาศัยอยู่ในป่าในเมืองหลวง อย่างสวนลุมพิธีได้อย่างสงบสุข สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ กับกทม.ในเรื่องนี้ แต่ได้เสนอแนะไปว่า ควรจะมาทำกิจกรรมนับตัวเหี้ยร่วมกัน เพื่อให้ได้ตัวเองที่ยอมรับกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเราเสนอด้วยว่า อาจจะให้เด็กๆเยาวชนที่สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ โดยจัดในรูปแบบของเทศกาลนับเหี้ยสวนลุมฯ อีกทั้ง จากการสอบถามนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาพักผ่อนในสวนลุมฯยังได้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้วยว่า นักท่องเที่ยวหลายคน เดินเข้ามาในสวนลุมก็เพื่อจะดูตัวเหี้ยเป็นการเฉพาะ เพราะในบ้านเขาไม่มี ซึ่งเป็นเรื่องแปลกและหาดูได้ไม่ง่ายนัก ที่จะได้เห็นการใช้ชีวิตร่วมกันโดยปกติสุขระหว่างคนกับเหี้ยในพื้นที่สวนสาธารณะ คนออกกำลังกายก็ออกไป เหี้ยเดินข้ามถนน คนก็หยุดให้ข้าม ซึ่งเป็นภาพที่น่าดูอย่างยิ่ง ไม่มีใครคิดทำอันตรายกัน”น.ส.กาญจนา กล่าว

น.ส.กาญจนา กล่าวว่า ตนยังเห็นด้วยว่า การที่จับตัวเหี้ยออกจากพื้นที่สวนลุม เพื่อไปปล่อยในอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะ การจับตัวเหี้ยออกไป ทำให้พื้นที่ในการใช้ชีวิตของประชากรเหี้ยมากขึ้น มีอาหารกินมากขึ้น และในเวลาไม่นานประชากรก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้นการจับเหี้ยออกไปปล่อยจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก จึงได้เสนอแนวทางการควบคุมประชากรเหี้ยว่า เมื่อถึงฤดูวางไข่ของตัวเหี้ย ให้เจ้าหน้าที่ในสวนลุมฯช่วยกันเก็บไข่เหี้ยส่วนหนึ่งออกมาทำลาย น่าจะดีกว่า และในอนาคต กทม.และทางกรมอุทยานฯน่าจะ ทำโครงการ เขตพื้นที่พิเศษ ชมตัวเหี้ยในป่าในเมือง เชื่อว่า น่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้มาก

Advertisement

นางอารมย์ วงษ์มหา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.กล่าวว่า กทม.ได้ประสานไปยังสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อขอความร่วมมือให้เข้ามาจับเหี้ยในสวนลุมพินี เนื่องจากเจ้าหน้าที่กทม.สำรวจพบตัวเหี้ย มีปริมาณเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว และประชาชน ที่เข้ามาใช้บริการในสวนสาธารณะแห่งนี้ แต่เมื่อได้หารือในเบื้องต้น สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า แจ้งว่า ความหนาแน่นของประชากรเหี้ย ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องจับออก อีกทั้ง ได้ท้วงติงมาตรฐานการการนับของกทม.เจ้าหน้าที่กทม.พร้อมทั้ง ให้กทม.หาอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันนับพร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกครั้ง โดยจะมีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image