‘บิ๊กอู๋’ ตั้งเป้าดึงแรงงานนอกระบบ 3-5 ล้าน เร่งเคลียร์ปม ‘เพิ่มเงินสมทบ-ขยายอายุเกษียณ’

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันจัดตั้งสำนักงานประกันสังคม ครบรอบ 28 ปีในวันที่ 3 กันยายน 2561 พร้อมทั้งกล่าวถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและเปิดกลยุทธ์งานในปี 2562 ว่า สำหรับ 28 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้ามาก มีผู้ประกันตนในระบบจำนวนกว่า 15 ล้านคน และจะดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้ามาในกองทุนแล้วกว่า 2.5 ล้านคน เฉพาะปีนี้มีแรงงานนอกระบบเข้ามาในมาตรา 40 แล้วกว่า 3 แสนคนในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเป็นแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างประมาณ 113,777 คน และตั้งเป้าเพิ่มอีกให้ถึง 3 ล้าน ไปจนถึง 5 ล้านคนในอนาคต ส่วนของเจ้าหน้าที่ประกันสังคมที่จะมารองรับกับจำนวนผู้ประกันตนนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีการปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้อง ที่สำคัญปัจจุบันการทำงานจะเน้นใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการจัดระบบเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาและเพิ่มสิทธิประโยชน์จำนวนมาก เช่น การพัฒนารูปแบบการให้บริการกรณีทันตกรรมโดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งมีผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวนถึง 8 แสนครั้ง เพิ่มเป็น 1.27 ล้านครั้งในปัจจุบัน และยังเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 400 บาทเป็น 600 บาทต่อเดือนให้แก่บุตรผู้ประกันตนกว่า 1 ล้านคน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการออกกฎกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 และยังเพิ่มค่าฝากครรภ์ กรณีคลอดบุตรให้กับผู้ประกันตนกว่า 290,000 คน ที่สำคัญเมื่อเร็วๆ นี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่ ที่ สปส.เสนอ เพื่อเพิ่มการคุ้มครองให้กับลูกจ้างได้มีหลักประกันมั่นคงขึ้น ขณะนี้เตรียมเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่าจะบังคับใช้ได้ในสิ้นปี 2561

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้านโยบายเพิ่มเพดานเงินเดือนจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาทสำหรับเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนเพิ่มจากเดิมเพดานสูงสุดที่ 750 บาท เป็นสูงสุดที่ 1,000 บาทต่อเดือน พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า จริงๆ ก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะจะดีในแง่ของผู้สมทบเพิ่มก็จะได้เพิ่มในส่วนของเงินบำนาญ และยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีก แต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่ที่การสร้างความเข้าใจเป็นหลักก่อน โดยขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างสร้างความเข้าใจในทุกฝ่าย หากยังมีกลุ่มเห็นต่างก็ต้องสร้างความเข้าใจก่อน

เมื่อถามถึงการสร้างความเข้าใจกรณีเงินสมทบกับการขยายอายุเกษียณการทำงานเป็น 60 ปีจาก 55 ปี นพ.สุรเดชกล่าวว่า ก็คิดไปด้วยกัน ส่วนที่ว่ากรณีไหนพร้อมก่อน ก็ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ต้องกังวล

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะเป็นใครก็ได้ที่มีอายุ 15-60 ปี ไม่เคยเป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ประกอบอาชีพอิสระ และไม่เป็น ผู้ทุพพลภาพ ในปัจจุบันมีทางเลือกจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 อยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่  ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 70 บาท คุณจะได้ประโยชน์คุ้มครอง 3 กรณี คือ 1.กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย กรณีผู้ป่วยใน 300 บาทต่อวัน แต่ไม่เกินปีละ 30 วัน ส่วนกรณีผู้ป่วยนอก ซึ่งแพทย์ระบุให้หยุดงาน 3 วันขึ้นไป จะได้ชดเชยวันละ 200 บาท แต่ไม่เกินปีละ 30 วัน หากหยุดไม่เกิน 2 วัน ได้ชดเชยวันละ 50 บาท แต่ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง 2.กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 15 เดือน ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ได้รับขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ และ 3.กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท และกรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ได้เงินสงเคราะห์อีก 3,000 บาท

ทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท มีเงินออม 50 บาท ในส่วนนี้เราจะได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กรณี คือ กรณีชราภาพ ครบ 60 ปี และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน  และทางเลือกที่ 3 เป็นทางเลือกใหม่ตามมาตรา 40 ถือเป็นความพยายามสำคัญ ที่จะช่วยให้แรงงานนอกระบบ มีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับแรงงานในระบบ โดยผู้ประกันตนจ่ายเงิน 300 บาท มีเงินออม 150 บาท จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มเป็น 5 กรณี จำนวนเงินทดแทนก็เพิ่มมากกว่าทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 อย่างชัดเจน

Advertisement

โดยทางเลือกที่ 3 สิทธิที่เพิ่มขึ้นกรณีที่ 1 จะได้เงินชดเชยรายได้ กรณีผู้ป่วยใน 300 บาทต่อวัน แต่ไม่เกินปีละ 90 วัน กรณีผู้ป่วยนอกที่แพทย์ให้หยุดเกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 200 บาท แต่ไม่เกินปีละ 90 วัน และกรณีผู้ป่วยนอกที่หยุดไม่เกิน 3 วัน ชดเชยครั้งละ 50 บาท แต่ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง กรณีที่ 2 ทุพพลภาพ รับเงินทดแทน 500-1,000 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต  จำนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นกับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ กรณีที่ 3 เสียชีวิต ได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท กรณีที่ 4 ชราภาพเมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จสะสม แต่หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท และกรณีที่ 5 สงเคราะห์บุตร ได้รับเงิน 200 บาทต่อเดือน ต่อบุตร 1 คน ซึ่งใช้สิทธิได้คราวละไม่เกิน 2 คน

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image