อดีตรองเลขาธิการ อย.เผยทางออกปัญหาร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

เมื่อวันที่ 4 กันยายน  ภก.ประพนธ์ อางตระกูล อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีมีการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … ว่า แต่ละวิชาชีพมีการเรียนมาแตกต่างกัน อย่างเวชกรรมจะเน้นเรื่องการตรวจวินิจฉัยรักษาโรค ส่วนเภสัชกร จะเน้นเรื่องของยา สูตรยา การผสมยาอย่างไรให้เหมาะสม เหมาะกับคนแต่ละประเภท หรือการใช้ยาร่วมกับยาตัวอื่นหรืออาหารเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งทางด้านสาธารณสุข หากสองวิชาชีพเกื้อหนุนทำงานตามหน้าที่และหนุนเสริมกัน ก็จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ เพราะการทำงานจะช่วยตรวจสอบซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเปิดให้วิชาชีพอื่นจ่ายยานั้น เริ่มต้นขึ้นจากตอนทำ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งตอนนั้นเภสัชกรขาดแคลน จึงมีการกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 13(3) ว่า ให้ 3 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ สามารถจ่ายยาให้แก่คนไข้ของตัวเองได้

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเภสัชกรไม่ได้ขาดแคลนอีกต่อไป เพราะมีเภสัชกรมากถึง 40,000 คน จึงเห็นว่าควรนำเอามาตรการเรื่องความปลอดภัยสูงสุดต่อคนไข้กลับมาใช้ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม คือ มีเภสัชกรเพียงพอ สภาพแวดล้อมและระบบรักษาพยาบาลในพื้นที่ก็ต้องมีความพร้อม เช่น จำนวนร้านขายยามีเพียงพอ ร้านขายยามีเภสัชกรไปอยู่ประจำครบ จำนวนคลินิก สถานพยาบาล ร้านขายยาไม่ได้อยู่ห่างไกลชุมชน เป็นต้น ต้องเอาองค์ประกอบเหล่านี้มาคำนวณด้วย ซึ่งหากพื้นที่ไหนมีความพร้อม ก็เสนอว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาจออกประกาศให้พื้นที่ที่พร้อมเช่นนี้ แยกการทำหน้าที่ผู้สั่งจ่ายยา และผู้จ่ายยาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นมาตรการเรื่องความปลอดภัยที่เป็นสากลอยู่แล้ว

“ร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับดังกล่าวที่มีปัญหาการคัดค้าน เนื่องจากให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามกฎกระทรวงสามารถจ่ายยาเพิ่มเติมได้ ซึ่งกฎกระทรวงนั้นออกได้ง่าย ทำให้เกิดความกังวลกัน และการให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาเพิ่มได้แบบนี้ทำให้ไม่มีการเช็กหรือตรวจสอบกันระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้จ่ายยา ความปลอดภัยก็น้อยลง อีกทั้งยังมีมาตรา 13(2) ที่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม สามารถผลิตยาตามใบสั่งได้ ก่อให้เกิดเรื่องตำรับยาที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ซึ่งในปี 2557 เคยมีการประชุมวิชาชีพทางการแพทย์ทั้งหมด ก็เห็นตรงกันว่า หากการผสมยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับไว้แล้ว และใช้หลักเภสัชกรรมน่าจะเป็นประโยชน์ ก็อนุญาตในตรงนี้แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเช่นนี้” ภก.ประพนธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไม่มีเภสัชกร ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่า พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 กำหนดให้ 3 วิชาชีพจ่ายยาได้อยู่แล้ว และยังมีระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคล ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือสภากาชาดไทย มอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2539 จึงทำให้บุคลากรสาธารณสุขที่ประจำใน รพ.สต. เสมือนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์อยู่แล้ว จึงสามารถจ่ายยาได้ ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องวิชาชีพอื่นให้จ่ายยาได้ลงไปในร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image