เด็กประถม-มัธยมอีสานตอนล่างสนใจ ‘สเต็มศึกษา’ วท.-มทส.มุ่งเป้า ‘วิทย์สร้างคน’

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ วท.ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ดำเนินโครงการขยายโอกาสการเรียนรู้สเต็ม (STEM) ของเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ไปสู่การรองรับอาชีพใหม่ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักนวัตกร แม้ที่ผ่านมาระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จะเป็นวิชาพื้นฐานที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ของประเทศ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา แต่ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของนักเรียนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ผลคะแนนการสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในระดับประเทศตกต่ำ

“ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นเรื่องง่ายใกล้ตัว สนุก และจับต้องได้ ให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยนำเอาแรงบันดาลใจต่างๆ ที่ได้รับจากโครงการเหล่านี้ มาประดิษฐ์เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ในเชิงนวัตกรรม ซึ่งอนาคตจะพัฒนาต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพ เป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี เป็นนวัตกร เพื่อจะได้เป็นตัวขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0” นายสุวิทย์ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า วท.กับ มทส.นำนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาประเภทห้องเรียนปกติ ในจังหวัดภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,600 คน มาจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM) หรือที่เรียกว่า ระบบ “สเต็มศึกษา” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่การศึกษาไทยและการศึกษาในประชาคมอาเซียน โดยตั้งเป้าจะพัฒนาเด็กไทยให้มีความสามารถระดับนานาชาติภายในปี 2570 ซึ่งจะวัดผลจากการสอบโอเน็ต

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เป้าหมายนี้จะใช้ระบบสเต็มศึกษา เป็นกลยุทธ์หลักในการพัฒนา เน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 4 สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน การจัดการเรียนรู้แบบสเต็มศึกษาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการท่องจำทฤษฎีหรือกฎทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฎเหล่านั้นผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหาและการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบนั้นไปใช้ เพื่อนำไปสู่การคิดแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ตลอดจนมุ่งผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image