“ปิยะสกล” รับ 4 ข้อสรุปผลหารือแก้ปัญหาร่าง พ.ร.บ.ยา พร้อมหารือพยาบาลสร้างความเข้าใจ

เมื่อวันที่ 5 กันยายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีผลการหารือระหว่างนพ.เจษฏา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกลุ่มเภสัชกรภาคส่วนต่างๆ เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ว่า  ตามที่ได้มอบหมายให้นพ.เจษฎา เชิญผู้แทนสภาเภสัชกรรม ผู้สมัครเลือกตั้งกรรมการสภาเภสัชกรรม คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง สมาคมวิชาชีพและอื่นๆ หารือในประเด็นข้อกังวลต่อร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ….เมื่อบ่ายวันที่ 4 กันยายน 2561 นั้น  ได้ข้อสรุปดังนี้  1.ที่ประชุมเห็นพ้องว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นประโยชน์และเห็นด้วย 2.ประเด็นที่ขอปรับแก้ คือ ม.22 (5) ให้กลับไปใช้ข้อความเดิมตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 คือการจ่ายยาตามวิชาชีพต่างๆ ได้คงเดิม ส่วนพยาบาลในหน่วยงานรัฐสามารถจ่ายยาได้เหมือนเดิมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และการโฆษณายาใน ม.137 ให้ใช้ตาม พ.ร.บ.ปี พ.ศ.2510

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า 3.ประเด็นที่ปรับแก้ กรณี นิยามตาม ม.4 ให้แบ่งประเภทยาตามหลักสากล เป็นยาตามใบสั่งยา (Prescription only) ยาจ่ายโดยเภสัชกร (Pharmacist only) ยาสามัญประจำบ้าน และกำหนดร้านขายยา ประเภท ขย.2 ให้ชัดเจน โดยขอให้ไปทำความชัดเจนอีกครั้ง 4.ประเด็นย่อยอื่นๆ เช่น ยาออนไลน์ การเรียงลำดับกฎหมายขอให้ปรับให้ถูกต้อง โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะนำไปเสนอคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ…. ต่อไป

“ขอให้ผู้แทนที่ร่วมประชุมช่วยสื่อสารไปยังสมาชิกเครือข่ายเพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างคณะกรรมการร่างพ.ร.บ.ยา กับสหวิชาชีพต่างๆ เพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความสมบูรณ์ทันสมัย เหมาะสมคุ้มครองประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ” นพ. ปิยะสกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มพยาบาลอาจมีความกังวลในเรื่องการจ่ายยา หากไม่มีกฎหมายรองรับจะเกิดการฟ้องร้องหรือไม่  นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล   เพราะพยาบาลจ่ายยาตามการสั่งของวิชาชีพแพทย์ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องอะไร มีกฎระเบียบคอยดูแลอยู่ ตนได้กำชับแล้วว่า ต้องดูแลทุกวิชาชีพ และต้องมีระเบียบเพื่อให้พยาบาลทำงานได้ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งเรื่องนี้ตนได้มอบให้ทาง อย.สื่อสารทำความเข้าใจให้ดี เพราะทุกวิชาชีพต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ต้องทำงานด้วยกัน ขอให้เข้าใจตรงนี้

Advertisement

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขั้นตอนนี้จากนี้คณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.ยา จะนำข้อสรุปของที่ประชุมมาปรับแก้ และนำเอาความคิดเห็นที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ก่อนหน้านี้ที่รวบรวมไว้ประมาณ 1,400 ความเห็นมาดูด้วย ทั้งนี้จะมีการปรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณานำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนในกลุ่มของพยาบาลนั้น ทางอย.ก็จะมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image