‘อัศวิน’ ชง มท.สั่ง ผวจ.ต้นน้ำเจ้าพระยาเก็บ ‘ผักตบ’ เผย กทม.แบกภาระ20-50 ตัน/วัน

เมื่อวันที่ 10 กันยายน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “รักษ์เจ้าพระยา” เนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ ที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า พล.ร.ต.ยงยุทธ พร้อมพรหมราช ผู้บัญชาการฐานทัพเรือ ผู้บริหาร กทม. เข้าร่วม

 

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ขณะนี้ กรมชลประทานได้ผันน้ำเหนือไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ขยะและวัชพืชจำนวนมากไหลลงมากับน้ำ กทม.จึงต้องใช้จำนวนคนกว่า 1,000 คน เรือเก็บขยะ เรือไฟเบอร์กลาส 80 ลำ เก็บวัชพืชและทำความสะอาดแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 4.3 กิโลเมตร (กม.) ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงโรงพยาบาลศิริราช

Advertisement

“กทม.มีคลองสายหลักมากถึง 1,161 คลอง นอกจากช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังเป็นเส้นทางระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ทั้งนี้ กทม.พยายามรักษาความสะอาดแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดเก็บขยะและวัชพืชในพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา รวม 34 กม. และยังรับผิดชอบคลองบางกอกน้อย ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงแยกคลองมหาสวัสดิ์ รวม 4.2 กม. ซึ่งระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ปริมาณขยะและวัชพืชอันเนื่องมาจากการผันน้ำเหนือ เฉลี่ยวันละ 20-50 ตันต่อวัน” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว และว่า จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เรียกประชุมหรือสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ต้นน้ำเจ้าพระยาเก็บผักตบชวา หรือวัชพืชในพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวถึงปริมาณน้ำเหนือในปัจจุบันว่า กทม.ยังสามารถรับมือสถานการณ์ดังกล่าวได้ โดยการประสานความร่วมมือและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดกับกรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัดใกล้เคียง เป็นต้น สำหรับปริมาณน้ำยังสถานีวัดน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน วัดได้ 900 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แต่ล่าสุดปริมาณน้ำลดลงเหลือ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติและอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ เชื่อว่าปีนี้ปริมาณน้ำอาจจะสูงสุดไม่เกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่หากสูงกว่าปริมาณดังกล่าวอาจกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม กทม.กังวลปริมาณน้ำฝนที่จะตกใต้เขื่อนในจังหวัดปริมณฑล และ กทม.มากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้แล้ว

Advertisement

“ปลายเดือนสิงหาคม เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง แต่ยืนยัน กทม.ยังคงใช้เวลาระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ส่วนจุดอ่อนน้ำท่วมที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เช่น แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเวียนบางเขน กทม.พยายามปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยการสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ตลอดจนสั่งการให้ผู้รับเหมาโครงการสร้างก่อสร้างรถไฟฟ้าจัดเก็บสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลทั้งหมด โดยให้สำนักการโยธาทำการสำรวจ หากตรวจพบ กทม.จะสั่งหยุดก่อสร้างเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขทันที” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image