“จอน อึ๊งภากรณ์” แย้ง ร่าง รธน.ทำระบบ”30 บาท”รักษาโรคถดถอย กลายเป็นอนาถา

นายจอน อึ๊งภากรณ์

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพ ในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ที่เตรียมจะลงประชามติ ว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยงงว่า ในเมื่อประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วตั้งแต่ปี 2545 ทำไมจึงมีการระบุให้สิทธิการรักษาพยาบาลในสถานบริการภาครัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของผู้ยากไร้เท่านั้น และในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 เช่นกัน ยังมีเนื้อหาที่ระบุเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่ทันสมัยกับสถานการณ์ เนื่องจากประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มของประเทศ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงไม่ควรกำหนดสิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ แต่ควรระบุว่าประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพภาครัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแทน หรือรัฐต้องจัดให้ประชาชนทุกส่วนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

“การที่ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 เขียนให้เฉพาะคนยากไร้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาพยาบาล สิ่งที่จะตามมาคือจะก่อให้เกิดการแบ่งชนชั้นในสังคม และแทนที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นของประชาชนทุกคน ในที่สุดจะกลายเป็นการจัดระบบรักษาพยาบาลสำหรับคนยากจนเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นคนยากจนจะได้รับบริการชั้น 3 โดยเป็นบริการรักษาพยาบาลที่ด้อยกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ” ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวและว่า ตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ควรตัดคำว่าผู้ยากไร้ออกเพราะเรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่ในปี 2559 กลับยังเขียนแบบเดิมอีก สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับคุณค่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทั่วโลกต่างชื่นชม

นายจอนกล่าวว่า ขณะเดียวกันนอกจากการตัดคำว่าคนยากไร้ออกจากร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ควรเพิ่มเติมคำว่าเสมอภาคด้วย คือทุกคนต้องมีสิทธิรับการรักษาพยาบาลเสมอกัน โดยรัฐบาลต้องจัดบริการสุขภาพเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และต้องเป็นบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ถือเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐต้องทำเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าผู้ร่างไม่มีความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นายจอนกล่าวว่า อาจมีความเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ได้ หรือมีความตั้งใจที่จะระบุเนื้อหาเช่นนี้ ซึ่งเท่าที่ดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง ดูแล้วเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ไม่แต่เฉพาะด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีด้านการศึกษาที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะมีการลดสิทธิและจำกัดสิทธิประชาชน อาทิ การจำกัดเรื่องระดับการศึกษา ซึ่งหากเราดูประเทศที่พัฒนาแล้วที่ไต่มาจากประเทศโลกที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน ประเทศเหล่านี้ต่างต้องพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาและสุขภาพเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงถ้วนหน้า ซึ่งเป็นหลักการสำคัญ

Advertisement

“ผมอาจบอกได้ว่า ผู้บริหารประเทศในปัจจุบันไม่เข้าใจระบบสวัสดิการสังคมที่เป็นพื้นฐานของประเทศ ซึ่งผู้บริหารประเทศเป็นทหารไม่เข้าใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องควบคู่กันไป การพัฒนาเศรษฐกิจจะเดินไปไม่ได้ หากไม่พัฒนาบริการสังคมให้ประชาชนเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างถ้วนหน้า ประชาชนต้องมีโอกาสทางการศึกษาเท่ากันไม่ว่ารวยหรือจน รวมถึงการเข้าถึงระบบสุขภาพที่เท่าเทียมกัน ซึ่งหากผู้บริหารประเทศไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศเสียหาย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นการถอยหลังในแง่ของประชาชนที่ต้องเข้าถึงสวัสดิการที่จำเป็นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีถ้วนหน้า” นายจอนกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การระบุในร่างรัฐธรรมนูญโดยจำกัดระบบหลักประกันสุขภาพที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายให้เฉพาะคนยากไร้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเดินหน้าแนวทางการร่วมจ่าย นายจอนกล่าวว่า หากเป็นการร่วมจ่ายต้องเป็นรูปแบบภาษี และขณะนี้มองว่าทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้ แต่ที่กังวลคือขณะนี้มีความพยายามผลักดันให้ทบทวน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่อาจนำความคิดแบบเก่า มองว่าคนมีเงินควรจ่ายส่วนหนึ่งของค่ารักษา โดยไม่ใช่การจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าตามฐานะและความสามารถจากการภาษีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ระบบถอยหลังเข้าคลอง ขณะที่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เท่าที่ดูยังล้าสมัย เพราะไม่ได้ให้หลักประกันสุขภาพกับประชาชนทุกส่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image