วท.กำจัดจุดอ่อน สตาร์ตอัพ ไทย สร้างอาชีพ 50,000 ตำแหน่งภายในปี 2564

สตีฟ แบลงค์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งสตาร์ตอัพ ให้คำนิยาม สตาร์ตอัพ (startup) ไว้ว่า คือกิจการที่ตั้งขึ้นเพื่อค้นหารูปแบบธุรกิจ ที่ทำซ้ำได้ และขยายตัวได้ สามารถสร้างกำไรได้เรื่อยๆ เพิ่มผู้ใช้ได้เรื่อยๆ และ เติบโต อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้นและกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งการจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่อย่างนั้นได้ในปัจจุบันก็คือต้องหาลูกค้าให้มีจำนวนมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของการผ่านระบบออนไลน์ในปัจจุบัน

ปี 2561 เป็นปีที่สังคมไทยพุ่งเข้าสู่โลกแห่งการสื่อสาร และนวัตกรรมสูงสุด ซึ่งคาดว่านับจากนี้จะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บวกกับนโยบายของรัฐบาลที่พยายามผลักดันเรื่องเหล่านี้ให้หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง จึงมีการส่งเสริมการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า สตาร์ตอัพ อย่างเข้มข้นจริงจัง จากเดิมว่ากันว่าธุรกิจประเภทนี้จะอยู่ในกลุ่มของคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่วันนี้ เวลานี้ ธุรกิจสตาร์ตอัพได้แทรกซึมอยู่ในทุกช่วงวัยอายุของคนทำงาน

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ ที่ปรึกษาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า สนช.ได้ขยายบทบาทการสนับสนุนวัตกรรมในแผนพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ ลงไปจนถึงระดับการเฟ้นหาเยาวชนในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งเรียกการแข่งขัน สตาร์ตอัพ ไทยแลนด์ ลีก ยู ลีก ที่จะใช้นวัตกรรมมาทำให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน โดยจัดอบรมให้ความรู้ และการประกวดแข่งขัน คัดเลือกผู้ที่มีไอเดียเด่นมาจัดแสดงผลงานต้นแบบบนเวทีระดับประเทศ ในงาน สตาร์ตอัพ ไทยแลนด์ ลีก 2018 เดโม เดย์ เมื่อวันที่ 16-17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แต่คราวนี้ เป็นครั้งแรกที่เปิดเวทีแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย มีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 535 ทีม มี 154 ทีมที่ผ่านการพิจารณาผลงานต้นแบบ จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และได้รับเงินรางวัลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาเป็นผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ

Advertisement

นายสาคร กล่าวว่า การแข่งขันที่ผ่านมา หนึ่งในทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลระดับมหาวิทยาลัยในปีนี้คือ ทีม ARAY (อะไร) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีผลงานที่น่าสนใจมาก ชื่อผลงาน Law U เป็นเว็บไซต์สื่อกลางในการให้คำปรึกษาและค้นหาทนายความที่มีความชำนาญในคดีเฉพาะทาง นำร่องด้วยด้านคดีอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน ประกอบด้วย น.ส.พัสนันต์ บูรณะปัทมะ นายพีรพล รอดรักษา และ น.ส.อรไท สันตวะกุล

Advertisement

โดย นายพีรพล เล่าถึงที่มาของแนวคิดนี้ว่า เห็นโอกาสทางการตลาดจากปัญหาลักษณะนี้มีบ่อยขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่ต้องการทนายความ ไม่ทราบว่าจะเข้าถึงข้อมูล หรือติดต่อหาทนายความที่มีความชำนาญคดี อย่างไร เมื่อไปปรึกษากับผู้ใหญ่ที่เป็นนักกฎหมาย ก็พบว่ามีปัญหานี้อยู่จริง โดยในเว็บไซต์ www.lawu.in.th จะแสดงข้อมูลของทนายเบื้องต้น ได้แก่ ชื่อ ประสบการณ์การทำงาน และรีวิวของผู้ใช้งานคนอื่นๆ รวมทั้งแชตกับทนายก่อนได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก พร้อมเปิดให้บริการปลายปีนี้ อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการได้ข้อมูลครบในจุดเดียว โดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ส่วนทนายความที่เข้ามาลงทะเบียน เมื่อได้รับงานเข้ามาก็จะเสียค่าบริการให้แพลตฟอร์มของเว็บไซต์นี้ในอัตรา 10%

นายสาคร กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำธุรกิจสตาร์ตอัพ มีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งต้องค่อยๆ หาทางแก้ไขกันไป เช่น เมื่อต่อยอดมาทำการตลาดจริง อาจถูกลอกเลียนได้ง่าย ในกรณีการทำแอพพลิเคชั่น วท.ได้รวบรวมปัญหาทั้งหมด เพื่อหาแนวทางป้องกันแก้ไขเอาไว้ 3 แนวทาง เพื่อกำจัดจุดอ่อน

 

“3 แนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ให้การปรึกษาเรื่องการจดลิขสิทธิ์ 2.ให้คำแนะนำสตาร์9อัพที่ได้รับการสนับสนุนโดยเลือกกลุ่มองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งมีความยืดหยุ่นและมีการโฟกัสการสนับสนุน อีกทั้งยังมีความต้องการใช้งานทันที และ 3.กระตุ้นให้สตาร์9อัพรุ่นใหม่ มุ่งไปที่ ผลิตภัณฑ์/บริการที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะจะถูกลอกเลียนยาก ส่วนกรณีที่ทำเป็นแอพพลิเคชั่น ก็ต้องสอดคล้องกับโจทย์ตลาดในประเทศ เช่น การท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการ และผู้ให้บริการได้มาเจอกัน” ที่ปรึกษา สนช.กล่าว

ปัจจุบันมีสตาร์ตอัพที่มาลงทะเบียนกับ สนช.และเข้ารับการสนับสนุนแล้ว 1,700 ราย โดยมีเป้าหมายจะสร้างให้ได้ 3,000 ราย และคาดว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5% ของจีดีพี รวมถึงสร้างอาชีพอย่างน้อย 50,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image