ปฏิรูปอีกสูตร : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อต้นสัปดาห์แล้ว ได้คิด

ได้คิดว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่บรรลุเป้าหมาย “ลดเหลื่อมล้ำ”

ความจริงแล้วอาจจะบอกได้ว่ายังไม่บรรลุเป้าหมาย “ลดคนจน” ลงด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ศ.ดร.โกวิทย์ระบุว่า เมื่อสมัยปี 2525 จำนวนคนจนประเทศไทยมี 12 ล้านคน

Advertisement

มาถึงบัดนี้ สัดส่วนคนจนจะลดลง เพราะประชากรคนไทยเพิ่มจำนวนขึ้น แต่เมื่อตรวจดูจำนวนคนจนที่มาลงทะเบียนแล้ว

พบว่ามี 11.4 ล้านคน

เท่ากับว่าจำนวนคนจนแทบจะไม่ได้ลดลงเลย

Advertisement

ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำที่ทุกฝ่ายมองกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง

ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

เมื่อก่อนเป็นปัญหาเช่นไร ณ ปัจจุบันก็ยังคงดำรงความเป็นปัญหา

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเพราะ “คนรวย” รักษาสิทธิ ส่วน “คนจน” ไม่รู้ว่ามีสิทธิ

เมื่อประเทศมีทรัพยากรอยู่จำนวนจำกัด เมื่อรัฐบาลมีนโยบายประชานิยม

“คนรวย” ขอใช้สิทธิร่วมเอี่ยวด้วย

ขณะที่รัฐบาลผลักดันนโยบายให้แก่ “คนจน” ได้รับสิทธิพิเศษ กลไกของรัฐกลับไม่สามารถกระจายข่าวสารได้ทั่วถึง

สุดท้าย “คนจน” ก็ไม่รู้สิทธิของตัวเอง

เมื่อ “คนรวย” ได้สิทธิเพิ่ม ส่วน “คนจน” ไม่ได้ใช้สิทธิ ก็ยิ่งทำให้เกิดเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ข้อเสนอที่จับความได้จากการพูดคุยคือ การตั้งคำนิยามของเป้าหมายใหม่

แม้เป้าหมายของความเหลื่อมล้ำคือ การสร้างความเท่าเทียม

แต่เป้าหมายของความเท่าเทียม ไม่ใช่เท่าเทียมที่เงิน หรือทรัพย์สิน

หากแต่เป็นความเท่าเทียมในความรู้สึก

รู้สึกว่าชีวิตมีความมั่นคงเท่าๆ กับคนอื่นๆ

ชีวิตแต่ละคนหากรู้สึกว่าราบรื่น นั่นคือบรรลุเป้าหมาย

ทุกคนควรจะพึ่งพาตัวเองได้

ทุกครอบครัวควรจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

แต่เมื่อใดชีวิตใคร ครอบครัวไหน เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต

นั่นคือปัญหาที่ต้องแก้ไขให้ได้

ดังนั้น ทุกชีวิตในประเทศไทยไม่ควรมีปัญหาเรื่องไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม

ทุกชีวิตในประเทศไทยไม่ควรมีปัญหาเรื่องไร้ที่เยียวยารักษาตัว

หรือไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล

รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ก็ไม่ควรถูกทอดทิ้ง

สิ่งเหล่านี้ ศ.ดร.โกวิทย์มองว่า ลำพังรัฐบาลและข้าราชการไม่มีทางทำไหว

หากจะทำได้ต้องพึ่งพากลไกประชาชน หรือการกระจายอำนาจ

เพราะท้องถิ่น หรือ อบต. เทศบาล เป็นหน่วยที่มีข้อมูลแท้จริง

คนจนตรงไหน กลุ่มเปราะบางมีเท่าไหร่ ท้องถิ่นต้องรู้

เมื่อมีข่าวสาร ท้องถิ่นต้องกระจายข่าวสาร

และท้องถิ่นก็จะเป็นผู้แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

หากท้องถิ่นทำไม่ได้ ประชาชนก็จะไม่เลือกเข้ามาทำงาน

ในระหว่างที่รอประชาชนเลือกทีมงานท้องถิ่นใหม่ ชาวบ้านก็พึ่งพาภาครัฐไปพลางก่อน

กระทั่งได้คนดีมีฝีมือมาใหม่ ภาครัฐก็ถอย ปล่อยให้เขาแสดงฝีมือกันไป

ได้ฟัง ศ.ดร.โกวิทย์แล้วน่าคิด เพราะ ศ.ดร.โกวิทย์ อยู่ในงานพัฒนาชุมชน และการกระจายอำนาจมาตลอด

มองเห็นความสำเร็จและล้มเหลวมาหลายครั้ง

กระทั่งท้ายสุด สรุปสูตรการแก้ปัญหาว่า ต้องใช้วิธีกระจายอำนาจ

เพียงแค่การบ่มเพาะท้องถิ่นเข้มแข็งเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้าน อาจต้องใช้เวลา

จากปี 2544 ที่เริ่มกระจายอำนาจ มาถึงบัดนี้รวมแล้ว 16 ปี

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่งที่มีอยู่ ประมาณการว่ามีประมาณ 1,000 แห่งที่อยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง

ถ้ามีท้องถิ่นที่เข้มแข็งมากกว่านี้ ไม่จำเป็นต้องถึงครึ่ง เอาแค่เพียง 2,000 แห่งขึ้นไป

ประเทศไทยน่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าปัจจุบัน

หลายปีที่ผ่านมา ไทยปฏิรูปจาก “บน” สู่ “ล่าง” ยังไม่สำเร็จ

อีกหลายปีต่อไปนี้ มาลองปฏิรูปสูตรกระจายอำนาจ

จาก “ราก” สู่ “ยอด” บ้าง

บางทีความฝันที่อยากเห็นอาจจะกลายเป็นจริง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image