แก้กฎหมาย “สสส.” เน้นปรับแผนบริหารกองทุน

เป็นไปตามคาดกับการแก้ไขกฎหมายสุขภาพ 2 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามที่ภาคประชาชน และเครือข่ายสุขภาพออกมาแสดงความกังวลในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

กฎหมาย 2 ฉบับ ที่ว่า คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ที่เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแก้ไขเนื้อหา โดยประเดิมที่ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฯ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก่อนจะมีการหารือกรอบการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หลังจบเทศกาลสงกรานต์

สำหรับกรอบการหารือ เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานประชุมพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อสังเกตจากผู้แทน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง สสส. คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คสช. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ฯลฯ เข้าร่วม

Advertisement

เบื้องต้นกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไขใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ให้การใช้เงินกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน 2.หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินควรยึดหลักเป็นไปตามระเบียบการใช้เงินตามระบบราชการปกติ และ 3.การป้องกันประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำข้อเสนอ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีการรวบรวมข้อมูลและเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาก่อนนำเข้าสู่การหารือวงที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน

แต่แนวทางนี้ ทางฝั่งภาคีเครือข่าย สสส.ตั้งคำถามว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ จะแตกต่างจากการแก้ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้มี นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาการปรับปรุงระเบียบที่แล้วเสร็จ 15 ฉบับหรือไม่ อย่างไร

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ให้ความเห็นว่า ครั้งนี้กรอบที่จะแก้ไขยังไม่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีการปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ไปแล้ว 15 ฉบับ ซึ่งก็ครอบคลุมทั้งหมด จึงไม่เข้าใจว่าจะเป็นการแก้ไขลักษณะใด หรือจะบอกว่า ต้องมีการแก้ไขคำนิยามของ ?สุขภาพ? ซึ่งปัจจุบัน สสส.อิงตามหลักสากล โดยครอบคลุม 4 ด้าน คือ กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ ขณะที่ประเด็นการจัดสรรงบประมาณนั้น ก่อนหน้านี้เครือข่ายฯ กังวลมาตลอดว่าจะมีการแก้กฎหมายเพื่อให้การจัดสรรงบฯ ของ สสส.ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง เพราะเกรงว่าจะทำให้การทำงานเป็นอุปสรรค ไม่เท่าทันสถานการณ์ของบริษัทเหล้า บุหรี่ เนื่องจากการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ต้องอิงกับสถานการณ์และต้องรู้เท่าทันธุรกิจเหล่านี้ เพื่อปกป้องลูกหลานด้วย

ก่อนหน้านี้ มีการพูดว่าอาจมีการนำ สสส.เข้าสู่ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 ซึ่งแว่วว่า สสส.ถูกจัดอันดับอยู่ใน 112 กองทุน ที่ต้องอยู่ใน

พ.ร.บ.ดังกล่าว แน่นอนว่า เรื่องนี้ นายคำรณค้านสุดตัว และย้ำว่า ภาคีเครือข่ายต่างๆ ย่อมคัดค้าน เนื่องจากจะขัดกับหลักการการทำงานของ สสส.ทันที

?หลายอย่างก็ไม่ค่อยเข้าใจในการปรับแก้กฎหมายเท่าไรนัก อย่างเรื่องแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นตามข่าวว่า มีการดำเนินการต่างๆ ทั้งปลดกรรมการบอร์ด สสส. ทั้งแก้ระเบียบ ซึ่งระเบียบใหม่ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้มงวดมาก อย่างหากมีสามีหรือภรรยาทำงานใน สสส. ก็ไม่ควรมาขอทุนเพื่อทำโครงการใดๆ จึงไม่เข้าใจว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายอย่างไร? นายคำรณกล่าว

หลังจากเกิดข่าวการแก้กฎหมาย สสส.ปรากฏว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในแวดวงสาธารณสุข อย่าง พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และ นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ต่างสนับสนุนให้แก้กฎหมาย และขอให้มีการกำหนดกรอบเพดานงบประมาณที่ สสส.ควรจัดสรร รวมไปถึงประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ แม้มีในกฎระเบียบใหม่ แต่เพื่อความยั่งยืนควรอยู่ในกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ลองมาดูระเบียบ ข้อบังคับที่มีการแก้ไขแล้ว 15 ฉบับ แบ่งเป็นข้อบังคับ 7 ฉบับ และระเบียบอีก 8 ฉบับ โดยข้อบังคับกองทุน สสส. ประกอบด้วย 1.ข้อบังคับกองทุนฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินเพื่อการสนับสนุนโครงการและกิจกรรม พ.ศ.2559 2.ข้อบังคับกองทุนฯ ว่าด้วยการเงิน การบัญชี และทรัพย์สินของกองทุน พ.ศ.2559 3.ข้อบังคับกองทุนฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2559 4.ข้อบังคับกองทุนฯ ว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ.2559 5.ข้อบังคับกองทุนฯ ว่าด้วยการมอบอำนาจในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก พ.ศ.2559 6.ข้อบังคับกองทุนฯ ว่าด้วยการมอบอำนาจของผู้จัดการในกิจการภายในสำนักงาน พ.ศ.2559 และ 7.ข้อบังคับกองทุนฯ เรื่องการยกเลิกข้อบังคับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ พ.ศ.2547 พ.ศ.2559

ส่วนระเบียบกองทุนที่มีการแก้ไขอีก 8 ฉบับนั้น ประกอบด้วย 1.ระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงาน และการบริหารงานภายในสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2559 2.ระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของกรรมการ

ผู้จัดการ และผู้ปฏิบัติงานในกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2559 3.ระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยการตรวจสอบภายในของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2559 4.ระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารการพัสดุ พ.ศ.2559 5.ระเบียบกองทุนฯ เรื่องการยกเลิกระเบียบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ค่าใช้สอย และค่าพัสดุสำหรับแผนงาน ชุดโครงการ และโครงการ พ.ศ.2544 พ.ศ.2559 6.ระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยสัญญาสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2559 7.ระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยเงินทดรองจ่าย และเงินยืมทดรองจ่ายของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2559 และ 8.ระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2559 รายละเอียดเปิดเผยในเว็บไซต์ สสส. www.thaihealth.or.th

ดังนั้น คงต้องติดตามว่าการแก้กฎหมายใหญ่นี้ จะสอดคล้องกับกฎหมายลูก หรือจะมีอะไรเพิ่มเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image