คลินิกหมอครอบครัว พลิกโฉมสาธารณสุขไทย

วันนี้คนมักจะเป็นโรค ความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม แต่ทุกคนบอกสบาย ช่างมัน ไม่ต้องออกกำลังกาย เดี๋ยวไปรักษาฟรี พอไม่ได้คุณภาพ ด่าคนรักษา ซึ่งเราต้องเข้าใจบริบททั้งหมดด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องการรักษาพยาบาล รัฐบาลนี้ทำเพิ่มเติม ไม่ได้ทำตามเดิมทั้งหมด งบประมาณก็ปรับขึ้น อยากให้ช่วยกันอธิบายตรงนี้ด้วย…”

ถ้อยคำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “หนึ่งองศาขยับ ปรับเปลี่ยนประเทศไทย: กำลังคนคุณภาพกับการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ” ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 กันยายนจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี สะท้อนถึงระบบการบริการด้านสาธารณสุขว่า แม้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงการบริการรักษามากขึ้น

แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อได้รับสิทธิรักษาฟรี หรือบางคนจะจ่ายแบบสมัครใจก็ตาม ย่อมทำให้คนแห่ทะลักเข้ามารักษาในโรงพยาบาล เกิดปัญหาการรอคิว ความแออัด และภาระด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ เพราะมองว่าเมื่อป่วยก็ไปรักษาที่โรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะการดูแลสุขภาพที่ดี คือ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ จึงบรรจุประเด็นการพัฒนาบริการปฐมภูมิไว้ในมาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ โดยให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม

Advertisement

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า สธ.ได้ดำเนินการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care Cluster: PCC) ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ โดยให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในอัตราส่วนที่เหมาะสมตั้งแต่ปี 2559 หลักๆ คือ ต้องมีทีมหมอครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ฯลฯ ดูแลประชาชนในพื้นที่สัดส่วน 1 ทีมหมอครอบครัว ดูแลประชาชน 10,000 คน หรือ 3,000 ครัวเรือน โดยหน้าที่หลักเน้นทำงานเชิงรุกสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่ในเรื่องการให้บริการรักษาก็ยังต้องดำเนินการ เพียงแต่ครั้งนี้จะแตกต่างออกไป เรียกว่าเป็นการพลิกโฉมการบริการสาธารณสุขรูปแบบใหม่ก็ว่าได้

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบบริการสุขภาพ นอกจากจะมีทีมหมอครอบครัว ที่เป็นสหวิชาชีพ ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านแต่ละครัวเรือนแล้ว ยังมีศูนย์บริการที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้บริการรักษา และให้คำแนะนำด้านสุขภาพต่างๆ ทั้งการฝากครรภ์ การดูแลสุขภาพจิต ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2559 โดย สธ.ได้พัฒนารูปแบบดังกล่าว และจัดเป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิเขตเมือง ในชื่อศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง หรือคลินิกหมอครอบครัว
โดยที่ผ่านมา สธ.ได้ดำเนินการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัวขึ้นใน 8 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง โดยเลือกจากจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะผลักดันเรื่องนี้ ประกอบด้วย 1.รพ.ขอนแก่น 2.รพ.กำแพงเพชร 3.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 4.รพ.เพชรบูรณ์ 5.รพ.น่าน 6.รพ.บุรีรัมย์ 7.รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และ 8.รพ.ตรัง โดยทั้งหมดเป็นต้นแบบของคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งหากเป็นเมืองใหญ่ๆ ชาวบ้านสามารถมารับบริการที่คลินิกหมอครอบครัวได้เลย และหากไม่สามารถมารับบริการได้ก็จะมีหมอลงไปให้บริการถึงบ้าน มีแพทย์เฉพาะทางทุกสาขา ที่จบทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวโดยตรงมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

Advertisement

ที่สำคัญ คลินิกหมอครอบครัวทั้ง 8 แห่ง จะทำงานประสานร่วมกับบุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการทำงานดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งส่งเสริมป้องกันโรค และให้บริการการรักษา ลดการรอคิว อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดตั้งคลินิกดังกล่าวแล้วเสร็จไป 6 แห่ง เหลืออีก 2 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ รพ.นครพิงค์ และ รพ.ตรัง และในวันที่ 18 กันยายน นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเป็นประธานเปิดคลินิกหมอครอบครัว รพ.เพชรบูรณ์ สาขาคลองศาลา ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์

“การดำเนินการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ ได้มีการจัดตั้งทีมหมอครอบครัวขึ้น ซึ่งการมีหมอครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ ซึ่ง นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. เคยพูดไว้ดีมากว่า ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีการส่งแพทย์ลงตำบล และทุกครอบครัวจะเข้าถึงบริการโดยมีหมอประจำตัว และมีความคุ้นเคยกับหมอ โดยหากเจ็บป่วยหรือมีปัญหาด้านสุขภาพ ก็สามารถปรึกษาทีมหมอครอบครัวได้ผ่านกลุ่มไลน์แอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นเฉพาะ” ปลัด สธ.กล่าว

นอกจากประโยชน์ช่วยให้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่แล้ว เกิดคำถามว่ายังตอบโจทย์อะไรอีกบ้าง นพ.เจษฎาอธิบายว่า ตอบโจทย์ 3 ระยะ แบ่งเป็น ระยะสั้น ลดความแออัด ลดการใช้บริการที่โรงพยาบาล ร้อยละ 60 ลดการรอคอย ในโรงพยาบาลใหญ่ ลดการนอนโรงพยาบาล ร้อยละ 15-20 ระยะกลาง ลดป่วยช่วยป้องกันและควบคุมโรค ลดการตายของทารกแรกเกิด ร้อยละ 10-40 เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ และระยะยาว ลดค่าเดินทางของประชาชนไปโรงพยาบาล 1,655 บาทต่อคน ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ร้อยละ 25-30 และช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี

แน่นอนว่า การดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจะต้องมีบุคลากรที่เพียงพอ ปลัด สธ.กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตหมอจบใหม่ได้ถึงปีละ 3,000 คน เข้าเรียนเฉพาะทางเฉลี่ยปีละ 1,500 คน สมมุติไปทำคลินิกเสริมความงามปีละ 500 คน ก็จะเหลือ 1,000 คน หากส่งเสริมให้ที่เหลือไปเรียนเวชศาสตร์หมอครอบครัว ก็จะมีหมอครอบครัวเต็มพื้นที่ ซึ่งในอดีตหมอไม่พอ ดังนั้น สถานการณ์ในขณะนี้เริ่มมีความพร้อม คนพร้อม เพียงแต่ตอนนี้อยู่ในช่วงตั้งไข่ ก็ต้องใช้เวลา แต่ระยะยาว ถือว่าคุ้มค่าในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนอย่างแน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image