อดีตเลขาฯ อย.ขอ “ปิยะสกล” เปิดร่างพ.ร.บ.ยาฯ ฉบับหารือทุกภาคส่วนก่อนเข้าครม.

ภก.ภักดี โพธิศิริ

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ภก.ภักดี  โพธิศิริ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 6 และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงการปรับแก้พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ว่า ขณะนี้ตนมีความกังวลเรื่องร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ… ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรับหลักการ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่า ที่จะเสนอไปยังเป็นร่างเดิมที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เสนอไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 หรือเป็นร่างที่มีการปรับแก้ตามข้อทักท้วงที่เป็นห่วงกันในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะถ้าสุดท้ายแล้วยังเสนอร่างเดิม แต่เสนอข้อทักท้วงแนบไปเท่านั้น ก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์ เพราะครม.จะพิจารณาตามร่างหลักมากกว่าพิจารณาข้อเสนอที่แนบไป จึงอยากขอให้ทางนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สร้างความมั่นใจในการประกาศชัดๆว่า ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่จะเป็นร่างที่มีการปรับแก้ตามข้อห่วงใย ไม่ใช่แค่แนบข้อเสนอเท่านั้น

ภก.ภักดี  กล่าวอีกว่า  จริงๆไม่ได้ค้านการแก้กฎหมาย แต่ควรปรับแก้ให้ทันสมัยและเป็นไปตามหลักสากล  เพราะถ้าเสนอเป็นร่างกฎหมายเดิม แต่แนบความคิดเห็นข้อเสนอเท่านั้น ก็ไม่ช่วยอะไร เหมือนกับเสนอร่างพ.ร.บ.ยาฉบับที่ทักท้วงอยู่ดี ซึ่งมีประเด็นข้อกังวลหลายอย่าง  อย่างการแบ่งประเภทยา การสั่งจ่ายยา ก็ควรแบ่งแค่ 3  ประเภท คือ มีการสั่งใช้โดยแพทย์ ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร และยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง  โดยยาทั้งหมดต้องจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น ส่วนที่จะให้ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆได้รับการยกเว้น เรื่องของการผลิตยา จ่ายยา ควรมีเงื่อนไขที่เข้มงวดและรัดกุมกว่าเดิม  เพราะกฎหมายเดิม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ได้มีการยกเว้นให้แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ จ่ายยาได้ เพราะสมัยนั้นจำนวนร้านขายยา และเภสัชกรที่ไปปฏิบัติการในร้านขายยายังมีจำกัด ทำให้มีการยกเว้นใน 3 วิชาชีพดังกล่าวทำหน้าที่จ่ายยาด้วย แต่ข้อยกเว้นเหล่านั้น เมื่อมาถึงปัจจุบันจำนวนเภสัชกรมีเพิ่มขึ้น และมีการกระจายตัวของเภสัชกรทั่วถึงทั้งประเทศ จึงควรปรับแก้กฎหมายให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันตามหลักสากล โดยมีการแบ่งการประกอบวิชาชีพกันอย่างชัดเจน ระหว่างทางฝ่ายผู้มีหน้าที่รักษาพยาบาล และสั่งใช้ยา กับผู้ที่มีหน้าที่สั่งจ่ายยาที่ร่ำเรียนมาด้านนี้โดยตรง

“เรายังกังวลกรณีมีการยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ในการไม่ต้องขออนุญาตผลิตและจ่ายยา เพราะปกติการผลิตยาต้องมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน หากยกเว้นก็จะเสี่ยงเรื่องมาตรฐานอีก  ปล่อยให้มีการโฆษณายาได้โดยใช้แค่วิธีการจดแจ้ง แทนจะมีการตรวจสอบอนุญาตอย่างเข้มงวด” ภก.ภักดี กล่าว

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า  สำหรับข้อเสนอให้เปิดเผยร่างกฎหมายว่ามีการแก้ไขจริงหรือไม่นั้น ขอให้ไม่ต้องกังวล เพราะทาง อย.มีการแก้ไขตามที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการมาก่อนหน้านี้ว่า ต้องเป็นไปตามข้อหารือร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างการปรับแก้ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะเสนอให้รัฐมนตรีฯ ลงนามเพื่อเสนอครม. และทันต่อกรอบกำหนดเวลา อย่างไรก็ตาม ส่วนข้อเสนอของทางกลุ่มพยาบาล ทาง อย.ก็จะเสนอเข้าไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ขอย้ำว่า พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ไม่มีลับ ลวง พราง เพราะเมื่อเข้าครม.แล้ว ก็ต้องมาสอบถามความเห็นชอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีก ซึ่งยังมีขั้นตอนอีกมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image