สมาคมคนพิการฯบุก ก.แรงงาน แฉ ‘ปรีดา’ กล่าวเกินจริงปมอมเงินผู้พิการ (คลิป)

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.นฤชล โสภา อนุกรรมการฝ่ายอาชีพ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย นายณัฐพล ลาภเกิน ประธานชมรมส่งเสริมอาชีพคนพิการ จ.พระนครศรีอยุธยา นำตัวแทนผู้พิการจากสมาคมผู้พิการและกลุ่มคนพิการพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 100 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงกรณีนายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าพบการทุจริตคนพิการจากมาตรา 33 มาตรา 35 และสร้างความเสียหายถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกินจริง รวมถึงเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อสอบสวนกรณีดังกล่าวภายใน 15 วัน โดยมี นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง รับหนังสือดังกล่าว พร้อมรับฟังข้อเท็จจริงร่วม 2 ชั่วโมง

 

จากนั้นนายวิวัฒน์แถลงว่า กรณีที่สมาคมผู้พิการฯขอให้กระทรวงแรงงานเป็นตัวกลางเพื่อให้นายปรีดาและพวกมาร่วมพูดคุยกันนั้น มองว่าไม่มีความจำต้องใช้ตัวกลาง อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ต้องไล่ออกจากราชการ

Advertisement

ด้าน น.ส.นฤชลแถลงว่า สมาคมคนพิการและกลุ่มผู้พิการที่เดินทางมาวันนี้ เป็น 1.กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จริงตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แต่ถูกนำตัวเลขไปเหมารวมว่าเป็นการจ้างงานที่ทุจริต โดยข้อมูลตามที่นายปรีดากล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริง 2.กลุ่มผู้พิการที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากข่าวทุจริตแล้ว โดยนายจ้างขอยุติและชะลอการจ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 เพื่อรอผลสรุปกรณีดังกล่าว และ 3.กลุ่มที่เคยเข้ารับการอบรมหรือโครงการกับนายปรีดา ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์ครบถ้วนตามสัญญา ส่วนการให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้น ได้ชี้แจงในทุกประเด็น

“การจ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 และ 35 เกิดผลดีต่อผู้พิการจริง ไม่เป็นไปตามที่นายปรีดากล่าวอ้าง โดยเฉพาะการสร้างความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตถึง 1,500 ล้านบาท จากการจ้างงานผู้พิการ 15,000 คนนั้นไม่จริง เพราะมีกลุ่มผู้ที่ได้รับเงินจากนายจ้างจริง แต่ยอมรับว่าบางส่วนมีการทุจริต ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐพยายามเข้าช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มดังกล่าว สาเหตุมาจากคนพิการเอาเปรียบกันเองและบริษัททำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีรายงานพบมีผู้ร้องเรียนราว 100 คน มูลค่าเสียหาย 10 ล้านบาทต่อปี” น.ส.นฤชลกล่าว และว่า หลังจากนี้ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกคนพิการ 7 ประเภท จะแถลงข่าวอีกครั้ง โดยขอยืนยันจุดยืนว่าข้อมูลตามที่นายปรีดากล่าวอ้างเกินจริง ไม่อยากให้เหมารวมแต่อยากให้นำเสนอข้อมูลอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นกรณีไป

Advertisement

ด้าน น.ส.เสาวลักษณ์ ส่งเจริญ ผู้ประสานงานสมาคมรวมใจมุ่งพัฒนาอาชีพเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในฐานะผู้ใช้สิทธิตามมาตรา 35 เปิดเผยว่า สมาคมเกรงสมาชิกรวม 125 คน และอยู่ระหว่างเข้าร่วมสมาคม 40 คน ได้รับผลกระทบจากสถานประกอบการ เนื่องจากช่วงนี้อยู่ระหว่างการต่อสัญญาของนายจ้าง ซึ่งได้ทำสัญญาการจ้างประเภทนวดร่วมกับ 23 บริษัท หากบริษัทยกเลิกสัญญาจะทำให้กลุ่มพิการคนตาบอดขาดอาชีพและรายได้ที่นายจ้างได้จ่ายเงินจริงตามสัญญา จึงร่วมเดินทางมาให้ข้อมูลกับกระทรวงแรงงานว่ามาตรา 35 นั้นช่วยให้คนพิการประกอบอาชีพอิสระได้

ด้านนายณัฐพล ลาภเกิน ประธานชมรมส่งเสริมอาชีพคนพิการ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในฐานะที่เคยร่วมงานกับนายปรีดา มองว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อตัวเอง แต่ส่งผลกระทบต่อแรงงานคนพิการทั่วประเทศ เนื่องจากมีการออกมาระบุให้สถานประกอบการนำเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ซึ่งมองว่าไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงแก่ผู้พิการเหมือนมาตรา 35 ที่ส่งเสริมอาชีพให้แก่คนพิการอย่างอิสระ

“ตั้งข้อสังเกตว่า ที่นายปรีดาออกมาครั้งนี้ เพราะ 1.ขัดผลประโยชน์ในการได้รับจ้างจากสถานประกอบการบางแห่งที่เลิกจ้างนายปรีดาในฐานะองค์กรหรือมูลนิธิจัดการอบรมคนพิการ เพราะสถานประกอบการมองว่าไม่สัมฤทธิผลที่ต้องการ 2.อาจจะเป็นเพราะนายปรีดาต้องการโปรโมตตัวเอง เพื่อทำสิ่งใดบางอย่างในอนาคต จึงเตรียมจะร้องเรียนให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบนายปรีดาด้วย” นายณัฐพลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image