จับตา! สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข บทบาทใหม่ ตอบคำถามสุขภาพสังคม

“ในอนาคต สวรส.จะต้องเป็นที่พึ่งทางองค์ความรู้ให้กับประชาชน..” ถ้อยคำของ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. พูดขึ้นเมื่อถูกถามว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้จัก สวรส. กระจายสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น

นั่นเพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า หลายคนยังคงไม่รู้จัก สวรส. ทั้งที่เป็นหน่วยงานวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ.2535 แล้วจะทำอย่างไร แน่นอนว่า ความคาดหวังมุ่งไปที่ นพ.นพพร ผู้อำนวยการ สวรส. ที่มานั่งบริหารได้ราว 3 เดือน หลังจากได้รับการคัดเลือกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561

นพ.นพพรยอมรับว่า ที่ผ่านมา เมื่อถามประชาชนทั่วไป ยังมีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่ไม่รู้จัก สวรส. ทั้งที่เป็นหน่วยงาน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดนโยบายที่สำคัญในประเทศ ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการที่ทำให้เกิดสมัชชาสุขภาพ หรือโครงการพัฒนาสุขภาพของประชาชน จนเกิดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ ซึ่งจากนี้บทบาทของ สวรส.จะมีความรับผิดชอบสูงขึ้น นอกเหนือจากการพัฒนาระบบสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพ หรือระบบเบิกจ่ายเงินเพื่อความมั่นคงในอนาคต ยังต้องก้าวไปสู่ระบบการพัฒนางานวิจัย การรักษาพยาบาลทางคลินิก จึงต้องการความร่วมมือจากแพทย์ทั่วไป และประชาชน

“เรายังได้รับนโยบาย นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ยังมีแนวทางในการปฏิรูประบบสาธารณสุข ซึ่งจะเกี่ยวข้อง 2-3 เรื่องที่สำคัญ การจัดบริการสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค แพทย์ประจำครอบครัว ความรู้ในการดูแลสุขภาพ หรือ Health Literacy สิ่งเหล่านี้คือ บทบาทที่ สวรส.ต้องก้าวไป เพราะฉะนั้น งานสำคัญอีกอย่างที่จะทำในเร็ววัน โดยการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ คือ การให้ความรู้ด้านสุขภาพ ตอบโต้ประเด็นที่ไม่จริง หรือเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย เพราะขณะนี้ประชาชนหลงเชื่อง่าย ถูกชักจูงง่าย โดยไม่มีสถาบันใดมาเป็นผู้ชี้ที่ชัดเจน โดย สวรส.จะร่วมกับผู้รู้ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง โดยเราจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองโดยนักวิชาการ เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นข้อมูลที่ถูกนำไปปฏิบัติจริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ สวรส.เป็นองค์กรที่ประชาชนคิดถึงเมื่อมีประเด็นสุขภาพขึ้น” นพ.นพพรกล่าว

Advertisement

อย่างเรื่องโซเชียลมีเดีย หากประเด็นนั้นสุ่มเสี่ยงให้คนหลงเชื่อ สวรส. จะต้องหาข้อมูลและออกข่าวโต้ตอบทันที แม้หลายเรื่องประชาชนสามารถตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเอง อย่างการกินปาท่องโก๋ซับน้ำมันมาโดนลิปสติกจะทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็ง แค่อ่านข้อความก็ทราบแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ก็ไม่ควรแชร์ต่อ ข้อมูลแบบนี้ไม่ต้องใช้นักวิชาการอะไรเลย เพราะทราบด้วยตัวเองอยู่แล้วว่า ไม่จริง หรือหมายถึงการงดข้าวเย็นสุขภาพดี ก็ไม่ใช่ เพราะการมีสุขภาพดีมีหลายปัจจัย ทั้งการบริโภคอาหาร การเคลื่อนไหวร่างกาย พักผ่อนนอนหลับเพียงพอ ฯลฯ

“น่าแปลกว่า เรื่องเหล่านี้คนกลับเชื่อ แต่เรื่องที่บอกว่า กินเหล้า สูบบุหรี่จะก่ออันตรายต่อสุขภาพ กลับไม่เชื่อ ขอเรียนว่าพฤติกรรมของคนมักมุ่งในทางที่สร้างความสุขในระยะสั้น จริงๆ การมีอายุยืน มีข้อมูลดีๆ ออกมามากมายในเรื่องของการดูแลสุขภาพ กลับไม่เชื่อ” นพ.นพพรกล่าว

ผู้อำนวยการ สวรส.บอกอีกว่า เราจะร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ยั่งยืน โดยจะมีหลักการบริหารการเงินที่ดี ซึ่งเราหวังอย่างยิ่งว่า สวรส.จะเป็นแหล่งความรู้ ซึ่งเราคาดหวังว่าใน 5-10 ปีข้างหน้า ประชาชนชาวไทยจะมีความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตัวเอง การดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว ยิ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยร้อยละ 80 มาจากพฤติกรรม เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย ถ้าประชาชนไม่เข้าใจ ไม่รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

Advertisement

ประกอบกับนโยบายรัฐบาลมีมากมาย ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ยังขาดการประเมินในทุกขั้นตอนของนโยบาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวไว้ชัดเจนว่า สวรส. จะต้องเป็นหัวใจในการพัฒนานโยบาย ไม่ใช่แค่การเสนอ แต่ต้องเป็นการสอบทาน ไม่ใช่ตรวจสอบ แต่สอบทานการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้รู้ปัญหาจริงๆ ในพื้นที่ หรือที่เรียกว่า ปัญหาหน้างานเป็นอย่างไร เราจะได้ส่งผลศึกษาสะท้อนไปยังผู้ให้นโยบาย เพื่อจะได้ปรับปรุงนโยบายนั้นๆ โดยหลักเราก็ต้องทำงานใกล้ชิดกับกรม กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำลังเราไม่มากเรามีคนแค่ 50-60 คนรวมนักวิชาการ งบประมาณเราก็ไม่มาก แต่พันธกิจเราต้องใกล้ชิดและมีความสำคัญ

ในอนาคต สวรส.จะต้องเป็นที่พึ่งทางองค์ความรู้ ทั้งนักวิจัย การแพทย์สาธารณสุข ระบบสุขภาพ ทั้งประชาชน หรือองค์กรต่างๆ ที่จะมารับข้อมูลข่าวสารจากเรา เรามีโครงการนำร่อง เช่น บิ๊กดาต้า โดยจะทำการศึกษาว่า จะทำอย่างไรให้กระทรวงสาธารณสุข ระบบสุขภาพไทยจะสามารถนำเอาบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์เพื่อพี่น้องประชาชน โดยเราจะทำเป็นต้นแบบบิ๊กดาต้า ในเชิงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีคนป่วยกี่คน พฤติกรรมเป็นอย่างไร กินฟาสต์ฟู้ดเท่าไร ไปหาหมอกี่ครั้ง ใช้ยาอะไร ซึ่งบิ๊กดาต้าจะมีทั้งส่วนบุคคล และเชิงบริหาร และจะทำบิ๊กดาต้าใน สวรส. รวบรวมข้อมูลสุขภาพขององค์กร โดยดูว่า แต่ละคนเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไร เท่าไร เป็นต้น

“แผนงานใน 1 ปี ที่ต้องทำให้ได้ คือ ระบบเบิกจ่ายเงิน หรือระบบเคลียริ่งเฮาส์ของประเทศ ซึ่งสามกองทุน ทั้งบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคมมีระบบที่แตกต่างกัน และมีหน่วยงานรับผิดชอบซ้ำซ้อนอยู่ ไม่ได้บอกไม่ดี ความซ้ำซ้อนต้องจับมารวมและดีดออกไปเป็นองค์กรอิสระ โดยต้องไม่มีประโยชน์หรือมีส่วนได้เสียใดๆ ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม (สปส.) หรือกรมบัญชีกลาง ต้องอิสระทั้งหมด ซึ่งอาจต้องเป็นองค์กรใหม่ขึ้นมา และองค์กรนี้ต้องไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืน” นพ.นพพรกล่าว

เรื่องเคลียริ่งเฮาส์เป็นอีกเรื่องที่น่าจับตาการทำงานของผู้บริหาร สวรส.คนนี้ เพราะเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติให้ สปสช.ทำ แต่แว่วว่า เร็วๆ นี้จะมีการปรับปรุงมติ ครม. ให้ สวรส.มารับหน้าที่ศึกษาและจัดระบบให้เป็นอิสระ หากทำได้ก็จะเกิดระบบสุขภาพทางด้านการเงินการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางขึ้นมา

ส่วนจะลดความซ้ำซ้อน ทำให้ทุกอย่างเป็นระบบมากขึ้นหรือไม่ คงต้องรอดู!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image