‘บิ๊กอู๋’ แถลงโกงเงินคนพิการไม่พบ จนท.รัฐเอี่ยว แต่เสียหาย 14ล. (คลิป)

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโกงเงินคนพิการตามมาตรา (ม.) 33 และ ม.35 พระราชบัญญติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ.2560 และที่แก้ไขฉบับเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2556 แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อร้องเรียนว่ามีการทุจริตเงินคนพิการ

พล.ต.อ.อดุลย์ แถลงว่า ตามที่นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้พิการ และคณะร้องเรียนหน่วยงานรัฐหลายแห่งให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฎิบัติไม่เป็นธรรมกับคนพิการตามม.33 และ ม.35 จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 9 เรื่อง ภายใน 15 วัน จากการตรวจสอบข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเฉพาะกรณีจากผู้ร้อง กลุ่มผู้พิการที่ให้ข้อเท็จจริงรวม 150 ราย และการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการประกอบการผู้พิการ พบ 6 เรื่อง เป็นข้อร้องเรียนเดิมระหว่างปี 2559-2560 ซึ่งมีข้อบกพร่องและมีการประสานให้หน่วยงานเข้าแก้ไขแล้ว ส่วนอีก 3 เรื่อง เป็นเรื่องร้องเรียนใหม่ พบมีข้อบกพร่อง 1 เรื่อง

“สรุปภาพรวมพบมีผู้พิการยังไม่ได้รับสิทธิตามม.33 และ ม.35 จำนวน 200 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 14 ล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนตามม.34 หลังจากนี้จะส่งข้อมูลให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมจ่ายเงินทดแทนให้ผู้เสียหายให้ครบถ้วน” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

ด้านนายวิวัฒน์ แถลงว่า นายปรีดาร่วมเดินทางมาให้ข้อมูล รวม 2 ครั้ง เป็นกรณีพบผู้พิการไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย โดย 9 เรื่องที่ร้องเรียนเกี่ยวข้องกับการจ้างคนพิการ จำนวน 2 เรื่อง และเกี่ยวกับการให้สิทธิและใช้สิทธิตามม.33 และ ม.35 จำนวน 6 เรื่อง และเรื่องที่คาบเกี่ยวกับม.33 และ ม.35 จำนวน 1 เรื่อง แบ่งเป็นแต่ละกรณี ดังนี้ เรื่องร้องเรียนเดิม 6 เรื่อง ได้แก่ 1.กรณีบริษัทในพื้นที่ จ.ชลบุรี พบผู้พิการ 1 ราย ถูกจ้างงานไม่ครบตามเงื่อนไขม.33 2.กรณีบริษัทในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกี่ยวข้องกับผู้พิการ 1 ราย พบสถานประกอบการจัดอบรมไม่ครบตามระยะเวลากำหนด ปัจจุบันนายจ้างส่งเงินเข้ากองทุนตามม.34 แล้ว 3.กรณีนายจ้างจัดอบรมไม่ครบระยะเวลาแก่ผู้พิการ 2 ราย ในพื้นที่จ.ชลบุรี 4.กรณีนายจ้างปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามสัญญาในพื้นที่กรุงเทพฯ แก่ผู้พิการ 3 ราย และยังไม่แก้ไข 5.กรณีผู้พิการ 1 ราย ของ รพ.เอกชน กทม.ไม่เข้าอบรมตามระยะเวลากำหนด และ 6.กรณีบริษัทไม่ดำเนินการครบถ้วนตามที่โครงการได้รับความเห็นชอบไว้และมีผู้พิการเกี่ยวข้อง 3 ราย

Advertisement

“ทั้ง 6 เรื่อง กรมจัดหางาน (กกจ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ พม.พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตฯ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวน” นายวิวัฒน์ กล่าวและว่า ส่วนอีก 3 เรื่อง เป็นกรณีใหม่ คือ 1.เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิตามม.33 ของสถานประกอบการ 1 แห่งในกรุงเทพฯ พบมีผู้พิการเกี่ยวข้อง 70 คน จากการตรวจสอบ สุ่มสอบสวนกับผู้พิการที่ทำงานตามโครงการพบนายจ้างโอนค่าจ้างผ่านทางบัญชีและส่งเบี้ยประกันเข้าระบบประกันสังคมครบถ้วนทุกราย 2.เกี่ยวข้องกับม.33 และม.35 ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้พิการ 160 คน เกี่ยวข้องนั้น เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบบริษัทดังกล่าวมีคนงาน รวม 1,280 คน ซึ่งตามม.33 ต้องจ้างงานผู้พิการ 13 คน พบจ้างงาน 4 คน ส่วนที่เหลืออีก 9 คน ใช้สิทธิตามม.35 จัดสัมปทานขายสินค้า ซึ่งเป็นการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายครบถ้วน และ 3.กรณีในพื้นที่จ.สมุทรสาคร มีผู้พิการเกี่ยวข้อง 31 ราย ตรวจสอบพบบางรายไม่อบรมครบกำหนดระยะเวลาตามม.35 โดยกรณีนี้ พม.จังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว

นายวิวัฒน์ แถลงอีกว่า ปี 2561 มีผู้พิการในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 1.9 ล้านคน มีสถานประกอบการเข้าข่ายต้องจ้างแรงงานผู้พิการ 64,750 คน โดย ม.33 เป็นการจ้างงานโดยตรงระหว่างผู้พิการกับผู้ประกอบการ มีการจ้างงานแล้ว 36,315 คน ในจำนวนนี้ กระทรวงแรงงานเข้ามีส่วนช่วยเหลือขึ้นทะเบียนคนพิการที่ประสงค์จะทำงานและประสานงานส่งต่อเพื่อให้นายจ้างคัดเลือกและบรรจุงาน จำนวน 1,565 คน ส่วนม.34 มีการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการของพม. ที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามม.33 และ ม.35 เมื่อปี 2560 มีสถานประกอบการ 1,200 แห่ง จ่ายเงินทดแทนจ้างผู้พิการ 14,623 คน เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งคิดอัตราตามค่าจ้างขั้นต่ำ 1 คน คูณ 1 ปี ของผู้พิการที่ไม่ถูกจ้างงานเท่ากับ 109,500 บาทต่อปี และม.35 เป็นกรณีสถานประกอบการให้สิทธิผู้พิการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมประกอบอาชีพ 7 ประเภท เช่น ให้สัมปทานขายสินค้า จัดอุปกรณ์ฝึกอาชีพ ล่ามภาษามือ ฯลฯ ซึ่งมีผู้พิการใช้สิทธิ 12,499 คน แต่กระทรวงแรงงานจะร่วมดำเนินการพิจารณาเห็นชอบโครงการที่ผู้ประกอบการเสนอ สรุปยังไม่พบเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงไม่พบข้อบกพร่องหรือนัยยะสำคัญที่ส่งผลต่อม.35

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image