สภาเภสัชฯ ติง สธ.ดันร่างพ.ร.บ.ยา ไม่เป็นไปตามที่คิด ห่วงเอื้อร้านสะดวกซื้อขายยา

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม  ที่กระทรวงสาธารณสุข ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม แถลงข่าวกรณีร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ.. ว่า  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยกร่างพ.ร.บ.ยาพ.ศ….ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น พบว่าในเนื้อหาไม่ได้เป็นไปเหมือนที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านั้น คือเรื่องร้านขายยา ซึ่งเดิมมี 2 ประเภท คือขย.1 หรือร้ายขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน และ ขย.2 คือร้านขายยาที่ไม่ต้องมีเภสัชกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ให้มีเพิ่มแล้ว แต่ในร่างกฎหมายที่เสนอนี้ พบว่ามีการเพิ่มมาตรา 24 (3) ระบุว่าการขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร หรือยาตามใบสั่งยา ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือผู้ผ่านากรอบรมโดยอย.ก็ได้ โดยเฉพาะประโยคที่บอกว่าผู้ผ่านการอบรมโดยอย.นั้นเพิ่งจะมีการใส่เพิ่มเข้าไปโดยที่ไม่เคยมีการคุยกันมาก่อน ทางกลุ่มจึงตั้งข้อสังเกตว่าหรือนี่จะเป็นการเพิ่มร้านขายยาพันธุ์ใหม่เข้ามาแทนที่ร้านขย.2 ที่กำลังจะหมดไป อีกทั้งร้านยาใหม่ยังไม่มีหมดอายุ

ภก.นิลสุวรรณ กล่าวอีกว่า วันนี้  (16 ต.ค.) จึงได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการอย. เพื่อขอให้ตัดมาตรา 24 (3) ออกทั้งหมด หรือไม่อย่างนั้นก็ตัดตั้งแต่คำว่า “หรือผู้ผ่านการอบรมโดยอย.” ออกไป นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้แก้ไขตัดมาตรา 117 ที่เปิดกว้าง และซ้ำซ้อนให้แพทย์ที่มีคลินิกสามารถจ่ายยาอันตรายได้ ออกไปด้วย และจะทำหนังสือถึงเลขาธิการ ครม.เพื่อคัดค้านและถอดถอนเรื่องนี้ออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไข แต่หากสุดท้ายผ่านครม.ไปทั้งอย่างนั้น ก็จะตามไปคัดค้านที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการอย.ออกมาชี้แจงเรื่องนี้

“คนที่เข้ามาอบรมเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่เภสัชกร ซึ่งห่วงผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบคนกลุ่มนี้คือใคร เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น คล้ายว่าเป็นการเปิดร้านยาให้บุคคลที่ 3 ซึ่งสอดคล้องกับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีนายทุนใหญ่เข้ามาเปิดร้านขายสะดวกซื้อโดยไม่ต้องมีเภสัชกรดูแล แล้วหลักการอบรมประกันได้หรือไม่ว่าประชาชนจะได้รับการดูแลความปลอดภัย เป็นการถอยหลังลงคลอง มาบอกว่าไทยแลนด์ 4.0 แบบนี้จะมองหน้าใครได้ เฉพาะการเก็บรักษายาก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้ดี ที่ร้านขายยาจะมีตู้กระจกควบคุมอุณหภูมิ แต่ถ้าขายยาตามร้านสะดวกซื้อ ก็เกิดคำถามว่าเก็บได้มาตรฐานหรือไม่  ซึ่งถ้าเก็บไม่ดี ยาจะหมดอายุไวกว่าที่ระบุในฉลาก แล้วคนขายในร้านสะดวกซื้อรู้หรือไม่ว่ายาหมดอายุแล้ว ถ้าเป็นเภสัชขายยาหมดอายุยังเอาผิดได้ แต่กับร้านสะดวกซื้อเอาผิดไม่ได้ ยาไม่ใช่ขนม ไม่ใช้อาหารเสริม มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ ดังนั้นควรให้มีการขายยาในร้านขายยาเท่านั้น ”ภก.นิลสุวรรณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากให้ขายเฉพาะร้านขายยาจะทำให้ประชาชนเข้าถึงยายากหรือไม่  ภก.นิลสุวรรณ กล่าวว่า  ปัจจุบันร้ายขย.1 หรือร้ายขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน มี 17,000 แห่ง ร้านขย.2 ร้านที่ไม่มีเภสัชกรมี 2,800 แห่ง คลินิก โรงพยาบาลอีก รวมๆ แล้วมี 33,000 แห่งที่สามารถจ่ายยาได้ อัตราส่วน 1 แห่งต่อประชากร 2,000 คน ครอบคลุมทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอเกิดใหม่ การซื้อยาจากร้านหากมีปัญหาก็ปรึกษาเภสัชกร แบบนี้ถึงเรียกกว่าสะดวกมากกว่าหรือไม่ แต่ถ้าซื้อที่ร้านสะดวกซื้อจะปรึกษาใคร

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image