เครือข่ายเภสัชกรภาคใต้จี้ถอน ‘ร่าง พ.ร.บ.ยาฯ’ รับไม่ได้ถูกบิดเบือน

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ชมรมเภสัชกรภาคใต้ ร่วมกับ 12 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ประกอบด้วย ชมรมเภสัชกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธาณสุขจังหวัดภาคใต้ สมาคมศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มเภสัชกรการตลาดภาคใต้ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) สโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สวมใส่ชุดฟอร์มเภสัชกรนัดชุมนุมที่โรงแรมเจบีหาดใหญ่ จ.สงขลา คัดค้าน (ร่าง) พระราชบัญญัต (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. …(ฉบับปรับปรุง) พร้อมออกแถลงการณ์ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … ฉบับเดือนตุลาคม 2561 ที่มีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บิดเบือน ขาดความชอบธรรมในการส่งร่างเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

ภญ.สุจิตา กุลถวายพร ประธานชมรมเภสัชกรภาคใต้ เป็นตัวแทน 12 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรภาคใต้ อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่า เนื่องจาก อย.ขาดความชอบธรรม หมดความน่าเชื่อถือในการเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญในหลักการ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยด้านยาแก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ด้วยการนำร่างออกรับฟังที่เปลี่ยนไปมา ไม่แน่นอน อีกทั้งนำมาตราอื่นๆ ที่ซ่อนเร้นไว้มาเติมใส่เองโดยไม่ผ่านความเห็นชอบมาก่อน นำความเห็นของชมรมเภสัชกรภาคใต้ไปบิดเบือนในร่างที่เสนอต่อ ครม.ว่า ชมรมเภสัชกรภาคใต้เห็นด้วย ทั้งๆ ที่ได้แสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฯ ดังกล่าวตลอดมา รวมถึงชี้แนะข้อบกพร่องร้ายแรงของร่างกฎหมายตามที่ได้นำเสนอไปแล้ว จึงสมควรอย่างยิ่งที่ อย.ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างเปิดเผย

“และชมรมเภสัชกรภาคใต้ และ 12 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ได้เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ยาฯ ฉบับเสนอ ครม.ออก และไม่ส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำกลับมาปรับปรุงตามที่ภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้แนะนำไว้ ทั้งนี้ หากไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ จาก อย.เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทั้ง 12 องค์กรในภาคใต้จะยกระดับการแสดงจุดยืนร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทุกภาคของประเทศไทย เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฯ อย่างถึงที่สุด” ภญ.สุจิตา กล่าว

Advertisement

 

ด้าน ภก.จรัญวิทย์ แซ่พัว กรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และกรรมการชมรมเภสัชกรภาคใต้ กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นขาดความชอบธรรม เพราะ อย.ยกร่างพ.ร.บ.ยาฯ โดยเปลี่ยนร่างพ.ร.บ.ยาฯ ที่นำมารับฟังความคิดเห็นทุกครั้ง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้จากฉบับรับฟังความเห็นก่อนเดือนมกราคม 2561 เดือนมกราคม 2561 เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เดือนกรกฎาคม 2561 และเมื่อมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ยาฯ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มบทบัญญัติที่กระทบถึงสาระสำคัญและไม่ใช่ข้อตกลงตามที่เคยมีการพูดคุยถึงข้อบกพร่องของร่าง พ.ร.บ.ยาฯ ฉบับรับฟังความเห็นในเดือนกรกฎาคม 2561 มาก่อน

Advertisement

“อย.สอดไส้ร่างกฎหมายยาใน 2 ประเด็นใหญ่ ปรับประเภทยาในร่างพ.ร.บ.ยาฯ ฉบับ ครม. ให้ดูเหมือนเหลือยา 3 ประเภทตามมาตรา 4 แต่หากดูทั้งร่างพ.ร.บ.ยาฯ จะพบยาประเภทที่ 4 ที่เรียกว่า ยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา ตามมาตรา 6 (9) และส่งผลต่อการเกิดร้านขายยาพันธุ์ใหม่ตามประเภทใบอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา โดยระบุไว้ในมาตรา 25 (6) และเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านยาอย่างเพียงพอ อาศัยเพียงผ่านการอบรมจาก อย.ตามมาตรา 24(3) สามารถเปิดร้านยาพันธุ์ใหม่เพื่อขายยาได้ ทั้งๆ ที่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้ยา และไม่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ มาตรา 117 ยังถูกเขียนเพิ่มขึ้นใหม่ ทั้งๆ ที่มีความซ้ำซ้อนกับการกำกับตามมาตราอื่นบางส่วน แต่กลับสุ่มเสี่ยงต่อการเปิดกว้างให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ทุกสาขาที่มีคลินิกสามารถจ่ายยาที่จ่ายโดยเภสัชกรได้” ภก.จรัญวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image