อย.คาดปลายปี’61 ประกาศนำ ‘สารสกัดกัญชา’ ใช้ทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการออกกฎหมาย เพื่อรองรับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ว่า ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ของ อย. ครั้งที่ 1 โดยมีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ฯลฯ ร่วมประชุม เพื่อนำวาระการเปลี่ยนแปลงประเภทของสารสกัดกัญชาจากยาเสพติดประเภทที่ 5 เป็นประเภทที่ 2 (ยส.2) มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษา รวมถึงพิจารณาวิธีการออกกฎหมายตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้ใช้วิธีการแก้กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง หรือพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายลูกรองรับ

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า การออกกฎหมายลูกดังกล่าวเป็นการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสารสกัดที่มาจากกัญชา ไม่ใช่ใบ ดอก หรือต้นกัญชา เช่นเดียวกับกลุ่มยาเสพติดทั่วไป เช่น มอร์ฟีนที่มีส่วนสกัดมาจากฝิ่น ที่นำมาใช้รักษาการแพทย์สมัยใหม่ เป็นสิ่งที่จะสามารถออกกฎหมายได้ก่อน ส่วนตัวกัญชา ใบ ดอก หรือต้นนั้น อยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือกฎหมายแม่ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งต้นกัญชานั้นจะเกี่ยวข้องกับการรักษาในแพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนโบราณ” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า อย.พยายามพิจารณาแนวทางด้วยกฎหมายที่มีอยู่ โดยขั้นตอนจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ก่อนออกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกยกระดับเป็น ยส.2 แล้ว จะต้องจำหน่ายโดย สธ. และกองควบคุมวัตถุเสพติดของ อย. โดยมีเงื่อนไขจะต้องขึ้นทะเบียนควบคุมและจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพที่นำไปใช้ หรือสถานพยาบาลที่มีรายชื่อผู้ป่วย ไม่สามารถจำหน่ายหรือขายทั่วไปได้ หมายความว่าสารสกัดจากกัญชา จะนำใช้ไปเพื่อการรักษาพยาบาลและวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น

“ระยะเวลาการพิจารณากฎหมายดังกล่าว จะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาโดยคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1 ก่อน หากเห็นชอบแล้วจะพิจารณาไม่เกิน 2 ครั้ง ถ้าไม่ติดขัด คาดจะมีการประกาศใช้ปลายปี 2561 ทั้งนี้ อย.พยายามช่วยผลักดันกฎหมายดังกล่าว เพราะเล็งเห็นถึงประโยชน์ของกัญชาที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ทำให้มีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้น แต่มีอำนาจทำได้เท่าที่กฎหมายมีอยู่ นอกจากนี้ ในที่ประชุมจะมีการพิจารณาอีกวาระสำคัญ คือ น้ำมันกัญชา ปัจจุบันอยู่กำลังศึกษาและพิจารณารายละเอียดว่าจะสามารถแปลความเป็นกัญชา กึ่งสารสกัด หรือสารสกัด เพื่อออกกฎหมายให้ครอบคลุม โดยปัจจุบันน้ำมันกัญชาถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์แผนไทยบางตำรับ” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image