กทม.เผยไร้เกณฑ์คุมเครื่องเสียง ‘แอโรบิก’ ลานกีฬา 1,000 แห่งทั่วกรุง

ความคืบหน้ากรณีดราม่าคำสั่งแจ้งย้ายสถานที่เต้นแอโรบิก เหตุมีประชาชนร้องเรียนเรื่องเสียงดังจากการจัดกิจกรรมแอโรบิกที่ลานสวนสันติภาพ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร (กทม.) รบกวนเวลาพักผ่อนของผู้ที่อาศัยในในพื้นที่ใกล้เคียงนั้น

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นางกนกรัตน์ พันธ์นรา รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.มีลานกีฬากว่า 1,000 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งในบริเวณชุมชน โรงเรียน และลานกีฬาสาธารณะ โดยลานกีฬาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับขนาดของลานกีฬา และจำนวนผู้เข้ามาใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1.ประเภทลานเอ (A) ลานกีฬาที่มีพื้นที่มากกว่า 1 ไร่ มีจำนวนผู้มาใช้บริการมากกว่า 100 คน ไม่จำกัดระยะเวลาหรือฤดูในการเล่นกีฬา สามารถเล่นกีฬาได้ทุกประเภท 2.ประเภทลานบี (B) ลานกีฬาที่มีพื้นที่ 200-400 ตารางวา (ตร.ว.) หรือไม่เกิน 1 ไร่ มีจำนวนผู้มาใช้บริการไม่ถึง 100 คนต่อวัน และไม่ต่ำกว่า 50 คน ไม่จำกัดระยะเวลาหรือฤดูการเล่นกีฬา สามารถเล่นกีฬาได้ทุกประเภท และ 3.ประเภทลานซี (C) คือลานพื้นที่ไม่จำกัด ต้องไม่ต่ำกว่า 50 ตร.ว. ไม่จำกัดจำนวนคนใช้บริการ แต่จำกัดการเล่นกีฬาได้อย่างน้อย 1-2 ประเภท

นางกนกรัตน์กล่าวว่า การจัดตั้งลานกีฬาทั้ง 3 ประเภท ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์สำคัญ อาทิ มีกรรมการดูแลรับผิดชอบ การบริหารที่ดี ประเภทกีฬาเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และบริเวณข้างเคียง มาตรการด้านความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ ฯลฯ โดยสำนักวัฒนธรรมจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนลานกีฬาและให้ข้อมูลประกอบการให้บริการลานกีฬา ส่วนสำนักงานเขตจะเป็นผู้รับผิดชอบลานกีฬาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นั้น โดยเขตจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณดำเนินการ จ้างอาสาสมัครหรือวิทยากรเข้ามาจัดกิจกรรม

นางกนกรัตน์ยังกล่าวถึงกรณีดราม่าผู้อำนวยการเขตราชเทวี แจ้งย้ายสถานที่จัดกิจกรรมแอโรบิกภายสวนสันติภาพ ว่าแม้ไม่ใช่ลานกีฬา แต่ปัจจุบันกิจกรรมแอโรบิกถูกจัดขึ้นทั้งในพื้นที่เอกชนและพื้นที่ของ กทม.

Advertisement

“โดยเงื่อนไขการจัดแอโรบิกไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ เช่น การกำหนดค่ามาตรฐานเสียง เพราะลานกีฬาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากชุมชน บางชุมชนเข้มแข็งจะลงขัน ระดมทุนสนับสนุนเครื่องขยายเสียงเองเพื่อจัดกิจกรรมกันเอง แต่ละชุมชุมจึงมีเกณฑ์ควบคุมดูแลภายในกันเอง ยกเว้นกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเหตุเดือดร้อนรำคาญ ทางเขตจะต้องไปปรับปรุงแก้ไขปรับลดระดับเสียงไม่ให้เกินกำหนดของหมวดเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 กรณีที่เกิดขึ้น ในส่วนของสำนักวัฒนธรรมจะสั่งการให้อาสาสมัครประจำลานกีฬา กทม.ทุกแห่งเข้าไปตรวจสอบด้วยว่ามีกิจกรรมเต้นแอโรบิกส่งเสียงดังรบกวนบ้านเรือนประชาชนละแวกใกล้เคียงหรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นว่าบางพื้นที่ก็มีการเปิดเสียงเครื่องขยายเสียงเต้นแอโรบิก เสียงดังและรบกวนผู้อาศัยละแวกใกล้เคียงจริง ทั้งนี้ หากมีผู้ร้องเรียนเสียงดังรำคาญให้ประสานทางเขตในพื้นที่ลงพื้นที่พูดคุยเพื่อปรับปรุงเสียง พร้อมให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ของลานกีฬา” นางกนกรัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image